Skip to main content

Author: ohoadmin

ผลการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก 2016

ผลการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก 2016 ณ เมืองคาร์ซาน ประเทศรัสเซีย มีดังนี้

  • นายพีรสิชฌ์ เจริญจิตเสรีวงศ์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ได้เหรียญเงิน
  • นายเมธัส เกียรติชัยวัฒน์ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ได้เหรียญทองแดง
  • นายปิยวัฒน์ อานันทคุณ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้เหรียญทองแดง
  • นายนนทกฤษ ไชยวงค์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์. ได้เหรียญทองแดง

ioi2016

ในการเดินทางแข่งขันครั้งนี้มีคณะอาจารย์ผู้ฝึกสอนดังนี้

  • ผศ.ดร.นัทที นิภานันท์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีม
  • ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองหัวหน้าทีม
  • อ.ผนวกเดช สุวรรณทัต ศูนย์เสริมสร้างการเรียนรู้และการสอน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้ช่วยหัวหน้าทีม
  • ดร.อัครา ประโยชน์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้สังเกตการณ์
  • นายพนมยงค์ แก้วประชุม สาขาวิชาเทคโนโลยี ผู้จัดการทีม

ในปีนี้ทีมที่ส่งนักเรียนมาแข่งขัน 81 ทีมประเทศ และมีประเทศมาสังเกตการณ์เพื่อเตรียมส่งนักเรียนเข้าแข่งอีก 5 ประเทศ จำนวนผู้เข้าแข่งขัน 308 คน

แว่นวีอาร์ สื่อเรียนรู้เสมือนจริงแห่งอนาคต (VR:Virtual Reality)

      เมื่อหลายวันก่อนมีโอกาสได้ลองใช้ แว่นชนิดหนึ่ง ที่ร้านค้านำมาจัดแสดงในงานแสดงสินค้า ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ตัวแว่นทำมาจากกระดาษและราคาไม่แพง เมื่อทดลองสวมแว่น ก็รู้สึกตื่นเต้นกับภาพที่ได้เห็นเป็นอย่างมาก ภาพช่างดูสมจริงราวกับว่ากำลังอยู่ในเหตุการณ์นั้น จึงทำให้เริ่มสนใจและศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมจนทราบว่า ในปี ค.ศ. 2014      กูเกิลได้พัฒนาต้นแบบกล้องที่สร้างขึ้นจากกระดาษแข็งมีลักษณะคล้ายกล้องสองตา

binoculars-354623_1920
รูปที่ 1 กล้องสองตา

     เรียกว่า Google Cardboard เมื่อนำโทรศัพท์มาติดตั้งที่ด้านหน้ากล้องแล้วมองผ่านช่องมองภาพจะเห็นภาพในลักษณะสามมิติเสมือนจริง จากนั้นมีบริษัทต่างๆ พัฒนาตามออกมาอีกหลายรุ่นหลายแบบในลักษณะของแว่นสวมใส่โดยใช้ชื่อว่า แว่นวีอาร์ (VR Glasses: Virtual reality Glasses)

image04
รูปที่ 2 Google Cardboard

     หลักการทำงานของแว่นวีอาร์คล้ายกับเครื่องมองภาพสามมิติ (Stereoscope) ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ในการดูภาพภูมิประเทศที่เป็นสามมิติ

image01
รูปที่ 3 เครื่องมองภาพสามมิติ (Stereoscope)

     เมื่อนำหลักการทำงานของกล้องสามมิติรวมเข้ากับความสามารถในการแสดงผลที่มีความละเอียดสูงและมีประสิทธิภาพ ทำให้ได้อุปกรณ์แสดงผลแบบสามมิติที่สมจริงโดยมีหลักการทำงานดังนี้

     เริ่มจากการสร้างภาพนิ่งหรือเคลื่อนไหวเป็นสองมิติแบบคู่โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือ การสร้างภาพให้เกิดการรับรู้ทางลึกในสมองโดยให้ตาของผู้สวมใส่แว่นเห็นภาพต่างกันที่มิติเดียวกัน โดยสร้างความเหลื่อมเพียงเล็กน้อยระหว่างภาพที่มองด้วยตาซ้ายและตาขวาผ่านเลนส์ที่ช่วยขยายภาพให้ใหญ่และปรับให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือ การที่เห็นภาพ 2 ภาพต่างกัน แต่ให้เห็นเป็นภาพเดียวกันด้วยการมองแบบธรรมชาติ ต้องตั้งระยะการมองให้ห่างกันอย่างพอเหมาะ ไม่ให้เห็นเป็นภาพเบลอเพื่อป้องกันการล้าของดวงตา

image00
รูปที่ 4 หลักการมองภาพของแว่น VR

     ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การสร้างภาพสามมิติจึงไม่ใช้เรื่องยากอีกต่อไป ในสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ มีผู้พัฒนาแอปพลิเคชันช่วยในการถ่ายภาพแบบสามมิติอยู่จำนวนมากให้เลือกใช้งานแล้วก็ยังมีแอปพลิเคชันที่แสดงภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวแบบสามมิติ เช่น Cardboard camera ของ google ใช้สาธิตภาพสามมิติ หรือ VR Cinema ของ Mobius Networks ที่สามารถแสดงให้เห็นภาพสามมิติได้แบบทันทีทันใดและเพื่อการรับชมที่เสมือนจริงมากขึ้น

image02
รูปที่ 5 แว่น VR

     นอกจากนี้ยังมีการผสมผสานเพิ่มเติมให้กับระบบประสาทสัมผัสอื่นด้วยประกอบกันไป  เช่นเสียงประกอบการรับชมที่สมจริงผ่านลำโพงหรือหูฟัง ทำให้ผู้สวมใส่แว่นวีอาร์รู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การทหาร การแพทย์ เกมเสมือนจริง รวมไปถึงแนวคิดใหม่ๆ ในการนำไปใช้งานในอนาคต

image03
รูปที่ 6 ภาพที่แสดงในแว่น VR

     ปัจจุบัน กูเกิลได้เปิดตัวโครงการ Expeditions ซึ่งเป็นโครงการวีอาร์เพื่อการศึกษา จุดประสงค์เพื่อให้เด็กๆ ได้มีโอกาสได้ท่องโลกกว้างผ่าน Google Cardboard ซึ่งสามารถใช้ได้กับแว่นวีอาร์ค่ายอื่นๆ ด้วย โดยเริ่มทดสอบในเดือนกันยายน ค.ศ. 2015 ที่ผ่านมา ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา เดนมาร์ก และ สิงคโปร์ โดยใช้ Google  Cardboard ร่วมกับสมาร์ทโฟน เพื่อทดลองสื่อสำหรับสนับสนุนการเรียนการสอนในอนาคต ผู้สนใจ สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติ่มได้ที่ Google for Education ในชื่อโครงการ Expeditions หรือลงทะเบียนได้ที่ https://www.google.com/edu/expeditions/

     สำหรับการศึกษาในประเทศไทย ยังมีความรู้อีกหลายอย่างที่เราไม่สามารถพาผู้เรียนไปศึกษาเรียนรู้ในสถานที่หรือเหตุการณ์จริงได้ ซึ่งอาจเป็นสถานที่อันตราย อยู่ห่างไกล หรือไม่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น แหล่งที่อยู่ของไดโนเสาร์ ดวงดาวในจักรวาล การระเบิดของภูเขาไฟ แว่นวีอาร์จะเป็นสื่อเรียนรู้แบบใหม่ที่จะพาผู้เรียนเข้าไปสัมผัสกับเหตุการณ์เหล่านั้นเหมือนได้อยู่ในเหตุการณ์จริง ทำให้เรียนรู้และทำความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งมากกว่าการเปิดดูภาพในตำราหรือดูภาพสองมิติเพียงอย่างเดียว

ยกร่างบทความโดย นายพรพจน์ พุฒวันเพ็ญ
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาวิชาเทคโนโลยี สสวท.

 

อ้างอิง

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Stereoscope
  2. https://www.google.com/get/cardboard/
  3. https://www.google.com/edu/expeditions/

Google Educator Groups Thailand (GEG Thailand) กับชุมชนแห่งการพัฒนาวิชาชีพครู

     ปัจจุบันการเรียนรู้ออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น  สามารถเรียนรู้ได้มากและเร็วในเวลาอันสั้น ทำอย่างไรผู้เรียนจึงจะสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่น่าเชื่อถือ เลือกใช้ข้อมูลและสารสนเทศที่มีมากมายได้อย่างมีวิจารณญาณ จึงเป็นเรื่องท้าทายของผู้สอนที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

      เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง นอกจากจะมีบทบาทสำคัญในแวดวงธุรกิจแล้ว ในวงการศึกษาก็เช่นเดียวกันมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อพัฒนาการศึกษา  โดยมีหน่วยงานเอกชนพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย กูเกิ้ล(Google) ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ให้บริการ Google Apps for Education โดยโรงเรียนที่มีชื่อโดเมนทางการศึกษา (.ac.th) เป็นของตนเอง สามารถใช้แอปพลิเคชันของกูเกิลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สอนสามารถบริหารจัดการห้องเรียนด้วย Google Classroom สร้างแบบทดสอบออนไลน์ด้วย Google Form และตรวจข้อสอบด้วยส่วนเสริมชื่อ Flubaroo สร้างเว็บไซต์ด้วย Google Site  ถ่ายทอดสดการสอนด้วย Hangouts On Air  ตัดต่อวิดีโอออนไลน์และนำเสนอด้วย Youtube  สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดการเรียนรู้ของผู้เรียน สามารถที่จะเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

      เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้ การมอบหมายงานสามารถทำได้อย่างรวดเร็วในทันที ครูสามารถสอนและบันทึกการสอนได้ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เพิ่มเติม เรียนล่วงหน้าหรือทบทวนบทเรียนได้อย่างอิสระนอกเวลาเรียนปกติ เครื่องมือเหล่านี้ช่วยลดข้อจำกัดต่างๆจากการสอนในห้องเรียนปกติได้ หากผู้สอนสามารถเลือกใช้สื่อ เทคโนโลยี ช่วยในการออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแก้ไขปัญหา รวมทั้งการพัฒนางานและสร้างผลงานต่างๆก็สามารถทำได้ โดยมีกลุ่มครูแกนนำ GEG สามารถช่วยผู้สอนเรียนรู้วิธีประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      กลุ่มผู้สอนที่รวมตัวกันในนามของ Google Educator Groups (GEG)  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก Google ในการจัดกิจกรรมต่างๆ  รวมทั้งการฝึกอบรมเพื่อขยายผลการใช้ Google Apps for Education

 geg001
รูปที่ 1 แผนที่กลุ่ม GEG ทั่วโลก

      Google Educator Groups ให้ความหมายของกลุ่มไว้ คือ “ชุมชนนักการศึกษาที่เรียนรู้ แบ่งปัน และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันและกันเพื่อตอบสนองความต้องการของนักเรียนด้วยโซลูชันด้านเทคโนโลยี ทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน” Google Educator Groups มีกระจายอยู่ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย มีการตั้งกลุ่มของ Google Educator Groups Thailand (GEG Thailand) มีหน้าที่ดูแล ประสานงาน ให้การฝึกอบรมแกนนำครู GEG ซึ่งกลุ่มของ GEG Thailand ได้แบ่งเป็นกลุ่มย่อย เช่น GEG Central Bangkok, GEG Korat, GEG Roiet, GEG Chiang Rai, GEG Phayao, GEG Yala แกนนำครู GEG (GEG Leader) มีความเชี่ยวชาญในการนำแอปพลิเคชันของกูเกิลไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

geg002
รูปที่ 2 แบนเนอร์ของกลุ่ม GEG Thailand

     สามารถช่วยเหลือเพื่อนครูในการบริหารจัดการห้องเรียน การดูแลระบบ และการอบรมบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้  การเลือกใช้แอปพลิเคชันที่เหมาะสมในการจัดการเรียนรู้

geg003
รูปที่ 3 GEG Leader Thailand

ประโยชน์จากการรวมกลุ่มแกนนำครู GEG

  1. ประสานความร่วมมือ การสมัครและติดตั้งระบบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ Google Apps for Education
  2. ประสานความร่วมมือกับ GEG Thailand เพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนในการจัดกิจกรรม
  3. ได้รับข้อเสนอแนะ แนวทาง คู่มือการใข้งาน การแชร์ประสบการณ์ของผู้สอนในการจัดการเรียนรู้ด้วยแอปพลิเคชันของ Google และด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา
  4. พัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อเป็นชุมชนแห่งการพัฒนาวิชาชีพครูที่สนใจในเรื่องเดียวกัน

      กลุ่มแกนนำครู GEG เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างชุมชนแห่งการพัฒนาวิชาชีพครูที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ เมื่อเกิดการรวมกลุ่มการเรียนรู้ของครูก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เทคโนโลยีจะช่วยให้ครูสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ง่ายและรวดเร็วผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งการจัดการเรียนรู้ข้ามโรงเรียน สามารถร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้สอนที่ใช้ Google Apps for Education ในการจัดการเรียนรู้ได้จาก https://www.google.co.th/intl/th/landing/geg/groups เลือกกลุ่มย่อยของ GEG

โรงเรียนที่สนใจสามารถสมัครได้อย่างไร

          โรงเรียนที่มีความประสงค์ขอสมัครใช้บริการ Google Apps for Education คลิกลิงก์ http://bit.ly/thai-edu เพื่อกรอกข้อมูลรายละเอียด จากนั้นจะมีผู้ให้บริการติดต่อกลับมาในภายหลัง

          หลังจากสมัครรับบริการแล้วต้องเตรียมความพร้อมและตั้งค่าระบบตามคำแนะนำจากลิงก์นี้ http://goo.gl/60RDXi

แนะนำแหล่งเรียนรู้ที่ครูสามารถเข้าไปศึกษา และนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้

เว็บไซต์ GEG Thailand

geg004
รูปที่ 4 เว็บกลุ่ม GEG ทั่วประเทศ http://gg.gg/gegth หรือ https://sites.google.com/site/gegthaiedu

 

เว็บไซต์คู่มือการใช้ Google Apps for Education

geg005
รูปที่ 5 เว็บไซต์คู่มือการใช้ Google Apps for Education https://sites.google.com/site/thaitrainingsite

         Google Apps for Education เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ อำนวยความสะดวกให้ครูไทยก้าวทันเทคโนโลยี โดยมีกลุ่มแกนนำครู GEG (GEG Leader) ที่มีความสามารถในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมกันเป็นชุมชนแห่งการพัฒนาวิชาชีพครูที่สามารถช่วยเหลือ พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปัน สร้างแรงบันดาลใจ เติมเต็มศักยภาพ ให้กับตนเองและเพื่อนครู เพื่อให้ผู้สอนนำไปประยุกต์ใช้ในการปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน เสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนต่อไป

ยกร่างบทความโดย นายเอกรินทร์ ศรีผ่อง
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาวิชาเทคโนโลยี สสวท.

อ้างอิง

  1. Anchalee  Sutthisawang. Google Educator Groups : Changing the world of Education together [Online].
    Avilable : https://docs.google.com/presentation/d/1YqlGH1-6X-eCahnTV5IL1U2zzco3LIVqKVdluuIm5jY/edit?hl=en-GB&forcehl=1#slide=id.g2b7928190_2_90 [2016, Feb 5]
     
  2. Jarunee Sinchairojkul , Supachai Sasikanok. 2558. คู่มือการใช้ Google Apps for Education [ออนไลน์].
    Avilable : https://sites.google.com/site/thaitrainingsite [25 มกราคม 2559]
     
  3. GEG Community Board. 2015. Bringing the tribe together: GEG Champion Teachers Workshops [Online],
    Avilable : https://docs.google.com/document/d/1pFg0LdkOiHam6E_jL8iuPnconsIqonEWkOsL4T88Ia0/edit?hl=th&forcehl=1 [2016, Jan 25]
     
  4. Google. Google Educator Groups [Online].
    Avilable : https://www.google.com/landing/geg  [2016, Jan 25]

ผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2559

ผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2559 (IOI2016) ไปแข่งขัน ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 12 – 19 สิงหาคม 2559 ดังนี้

ioi2016

(รายชื่อจากซ้ายไปขวา)

  1. นายเมธัส  เกียรติชัยวัฒน์        โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์
  2. นายปิยวัฒน์  อานันทคุณ         โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
  3. นายพีรสิชฌ์ เจริญจิตเสรีวงศ์    โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
  4. นายนนทกฤษ  ไชยวงค์           โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

  ในการเดินทางแข่งขันครั้งนี้มีคณะอาจารย์ผู้ฝึกสอนดังนี้

  1. ผศ.ดร.นัทที  นิภานันท์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หัวหน้าทีม
  2. ผศ.ดร.สุกรี  สินธุภิญโญ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองหัวหน้าทีม
  3. อ.ผนวกเดช  สุวรรณทัต ศูนย์เสริมสร้างการเรียนรู้และการสอน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  เป็นผู้ช่วยหัวหน้าทีม
  4. ดร.อัครา  ประโยชน์  ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  ผู้สังเกตการณ์
  5. นายพนมยงค์  แก้วประชุม สาขาวิชาเทคโนโลยี ผู้จัดการทีม

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และผลการแข่งขันได้ที่ www.ioi2016.ru

 

แนวทางการจัดการเรียนการสอนด้วย Google Classroom

      ในปัจจุบันสถานศึกษา ผู้สอน  ผู้เรียน สามารถเข้าถึงความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่มากมายบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  มีการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยจัดการเรียนการสอนให้สามารถนำความรู้ดังกล่าวมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด  ทั้งในด้านการจัดการชั้นเรียนของผู้สอน  ความสะดวกสบายในการเข้าถึงความรู้ของผู้เรียน  เครื่องมือที่ช่วยจัดการชั้นเรียน  เช่น  Edmodo, Socrative, MoodleMobile, Student Organizer และ  Google Apps for education

      บทความนี้ ผู้เขียนขอแนะนำ Google Apps for education ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือจัดการเรียนการสอนที่กูเกิลอนุญาตให้โรงเรียน มหาวิทยาลัย หน่วยงานด้านการศึกษา ใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถจัดการการเรียนรู้แบบทำงานร่วมกันได้ทุกที่ทุกเวลา  เครื่องมือเหล่านี้ เช่น  Gmail  Docs  Calendar  Drive  นอกจากนี้ Google ยังได้พัฒนา Google  Classroom ที่ช่วยผู้สอนในการจัดการชั้นเรียน  เช่น  สร้างงาน  เก็บงาน ติดตามกำหนดการส่งงาน  แสดงความคิดเห็น  ตรวจสอบการส่งงานและคะแนน [1]

image001
รูปที่  1  หน้าแรกเว็บไซต์  Google  Classroom

Google  Classroom  ทำอะไรได้้บ้าง

          ผู้สอนสามารถใช้ Google Classroom เพื่อจัดการชั้นเรียนได้  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • เพิ่มผู้เรียน  หรือแจ้งรหัสเพื่อให้ผู้เรียนเข้าชั้นเรียนได้
  • สร้าง  ตรวจ  และให้คะแนนงาน
  • ตรวจสอบกำหนดการส่งงาน  สถานะการส่งงานและคะแนน
  • เนื้อหาที่อยู่ในชั้นเรียนจะถูกจัดเก็บอยู่ใน Google Drive
  • ส่งประกาศ แชร์แหล่งข้อมูล พูดคุยหรือตอบคำถามตามหัวข้อที่ผู้สอนกำหนดให้
  • เพิ่มผู้สอนได้มากกว่าหนึ่งคนในรายวิชาเดียวกัน
  • ใช้ผ่านอุปกรณ์ได้หลายชนิด  เช่น คอมพิวเตอร์  แท็บเล็ต  สมาร์ทโฟน

 

ตัวอย่างกระบวนการจัดการชั้นเรียน

  1. ผู้สอนประกาศรายละเอียดการเรียน นำสื่อการเรียนรู้  ใบความรู้  หรือกำหนดใบงานให้ผู้เรียนทำ
  2. ผู้เรียนรับทราบข้อมูลจากประกาศ  ศึกษาจากสื่อการเรียนรู้ ใบความรู้  และทำใบงานตามที่ผู้สอนกำหนด และส่งคืนเพื่อตรวจให้คะแนนต่อไป
  3. ผู้สอนตรวจให้คะแนนใบงานหรือแบบฝึกหัดพร้อมส่งเฉลยคืนผู้เรียน 
  4. ผู้สอนดูคะแนนของผู้เรียนทั้งแบบรายบุคคลหรือทั้งชั้น และผู้เรียนสามารถดูคะแนนได้

image003
รูปที่  2  ตัวอย่างกระบวนการทำงานของ  Google  Classroom [2]

แนวทางการจัดการเรียนการสอนด้วย  Google  Classroom

          การนำ  Google  Classroom  มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน  สถานศึกษาจัดเตรียม Google  Account ให้กับผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งสามารถนำมาใช้จัดการเรียนรู้ได้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้  รวมทั้งกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน   ตัวอย่างการจัดการวิชาต่างๆ ในชั้นเรียนด้วย  Google  Classroom  ดังรูปที่  3  และ  4

image005
รูปที่  3  ตัวอย่างชั้นเรียนใน Google  Classroom ผ่านเว็บบราวเซอร์

image007
รูปที่  4  ตัวอย่างชั้นเรียนใน Google  Classroom ผ่านสมาร์ทโฟน

          การเตรียมความพร้อมของผู้สอนโดยผู้สอนจะเป็นคนสร้างชั้นเรียน  ในที่นี้ผู้สอนสามารถสร้างห้องเรียนแต่ละห้อง  เช่น ม.5/1 ม.5/2  เพื่อสะดวกในการจัดการเรียน และแจ้งรหัสชั้นเรียนให้ผู้เรียนทราบ  โดยอาจจะแจ้งในห้องเรียน  แจ้งผ่านอีเมล  หรือแจ้งผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ  เช่น Line  Google+  Facebook   ดังรูปที่  5

image009
รูปที่  5  ภาพตัวอย่างการเข้าร่วมชั้นเรียนด้วยรหัสชั้นเรียน

         ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้บริการของ Google  Classroom  ให้สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียน โดยเริ่มต้นจากการทำกิจกรรมง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจอยากรู้ เช่น ตอบคำถามหรือแบบฝึกหัด แล้วจึงพัฒนาเป็นลำดับต่อๆ ไป โดยประยุกต์ใช้ร่วมกับการเรียนการสอนในห้องเรียน

         ผู้สอนสามารถติดตามและวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้เรียนจากการสังเกต การเข้าร่วมเรียนและการส่งงานของผู้เรียนผ่าน  Google  Classroom  ได้  จากประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ของผู้เขียนพบว่า  ทำให้ผู้เรียนมีวินัยในการส่งงาน มีความสนใจเรียนมากขึ้น  ปริมาณการส่งงานเพิ่มขึ้น  ผู้เรียนพอใจที่จะเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์ของตนเองนอกเวลาเรียน  เพราะเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาและกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

         จากผลวิจัยการใช้  Google  Classroom  ในห้องเรียนของคณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  พบว่านักศึกษาที่เรียนผ่าน  Google  Classroom  มีความรู้สึกถึงความสะดวกสบายในการใช้เทคโนโลยีในการเรียนมากกว่าร้อยละ 80   ผู้สอนและเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการจัดการห้องเรียนขนาดใหญ่  ได้อย่างมีประสิทธิภาพ[3]

บทสรุป

       Google Glassroom เป็นบริการที่ผู้สอนสามารถนำมาใช้จัดการเรียนรู้ โดยผู้สอนควรออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพห้องเรียนปกติ บริการของ Google Classroom ทำให้เรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาตามต้องการ ผู้เรียนจึงพอใจที่จะเรียนรู้ สามารถสร้างชิ้นงาน ทำการบ้านหรือติดตามงาน ถึงแม้บริการจะอำนวยสะดวกและมีข้อดีหลายประการ การเรียนในชั้นเรียนยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีครูควบคู่กันไป  เพราะเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนครูผู้สอนได้ทั้งหมดโดยเฉพาะเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรม   

ยกร่างบทความโดย นายจตุรภัทร  ประทุม  โรงเรียนคำนาดีพิทยาคม
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาวิชาเทคโนโลยี สสวท.

อ้างอิง

  1. Google.  ศูนย์ช่วยเหลือของ Google Classroom,  [ออนไลน์]. 
    เข้าถึงจาก  https://support.google.com/edu/classroom/?hl=th#topic=6020277 [2016,Jan 25]
  2. Google.  ทำความเข้าใจเกี่ยวกับงานของ Classroom,  [ออนไลน์]. 
    เข้าถึงจาก https://support.google.com/edu/classroom/answer/6020260?hl=th&ref_topic=6020277 [2016,Jan 25]
  3. A. Florence, A. Suriya and S. Janjarasjitt, “Application of Online Tools for Class Support and Management: A Case Study,” in proceeding of International e-Learning Conference (IEC 2015)

Internet of Things (IoT): เมื่อทุกสิ่งอิงกับอินเทอร์เน็ต

          ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก ไม่ว่าเราจะทำอะไร อยู่ที่ไหน สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรามักจะเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตอยู่เสมอ  จึงอาจเปรียบอินเทอร์เน็ตเป็นดังสายลมที่อยู่รอบๆ ตัวเรา แล้วเราล่ะ จะเตรียมรับมือกับมันได้อย่างไร ถ้าหากเรานิ่งเฉย ไม่สนใจจะใช้ประโยชน์จากมัน เราอาจจะพลาดความสะดวกสบายบางอย่างในชีวิตไป หน้าที่ของเราคือ ทำความเข้าใจว่าเราจะใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและผู้อื่น 

          Internet of Things [1] คือ สภาพแวดล้อมที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆ มีการถ่ายโอนข้อมูลร่วมกันผ่านเครือข่าย โดยไม่จำเป็นต้องใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับคอมพิวเตอร์  ซึ่ง Internet of Things พัฒนามาจากเทคโนโลยีไร้สาย (wireless technology) ระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค (micro-electromechanical systems : MEMS) และอินเทอร์เน็ต ซึ่งคำว่า Things ใน Internet of Things นั้น หมายถึง อุปกรณ์ต่างๆ ที่อ้างอิงได้ด้วยเลขไอพี (IP address) และมีความสามารถในการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างกันได้ผ่านเครือข่าย สรุปให้เข้าใจง่ายๆ Internet of Things ก็คือ เทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นั่นเอง

          เราก็ได้ทราบนิยามของ Internet of Things กันไปแล้ว เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นเรามาดูตัวอย่างอุปกรณ์ธรรมดาๆ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน แต่เมื่อมี Internet of Things เข้ามาแล้ว มันจะไม่ธรรมดาอีกต่อไป เช่น

ตู้เย็นอัจฉริยะ มีตัวตรวจจับจำนวนสิ่งของต่างๆ ในตู้ เมื่ออาหารในตู้เย็นใกล้จะหมดอายุหรือสิ่งใดหมด จะมีข้อความแจ้งเตือนไปยังสมาร์ทโฟนให้เราสั่งซื้อของได้

image001 image002
รูปที่ 1  ตู้เย็นอัจฉริยะ [2]

เครื่องซักผ้าอัจฉริยะ เครื่องซักผ้าสามารถรายงานสถานการณ์ทำงานของเครื่องไปยังสมาร์ทโฟนได้ กรณีที่เราใช้เครื่องซักผ้าในขณะที่เราไม่อยู่บ้าน สามารถตั้งค่าเครื่องซักผ้าในโหมดพิเศษโดยเมื่อเครื่องซักผ้าเสร็จแล้วเครื่องจะปั่นผ้าเบาๆ ทุกสองนาที เพื่อให้มีอากาศไหลผ่าน ช่วยให้ผ้าไม่อับชื้น และเมื่อเรากลับถึงบ้าน เครื่องซักผ้าจะตรวจจับได้ว่าเรากลับบ้านแล้ว เครื่องซักผ้าจะจบการทำงานและแจ้งเตือน [3]

image003image004
รูปที่ 2 เครื่องซักผ้าอัจฉริยะ

นาฬิกาอัจฉริยะ มีความสามารถมากกว่าใช้ดูเวลาเท่านั้น เช่น ถ่ายรูป บันทึกวิดีโอ รับ-ส่งอีเมล จับเวลา นับก้าวเดิน คำนวณระยะและพลังงานที่ร่างกายใช้นอกจากนี้ยังใช้เป็นรีโมตคอนโทรลของโทรทัศน์ ได้อีกด้วย[4]

image005 image006 image007
รูปที่ 3 นาฬิกาอัจฉริยะ

            นอกจากอุปกรณ์เหล่านี้[5] ก็ยังมีการใช้งานในรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น การจอดรถในห้างสรรพสินค้าที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับที่ว่างแล้วแสดงผลให้ลูกค้าทราบ ในทางการแพทย์ใช้ในการวิเคราะห์ ตรวจสอบอาการของคนไข้ผ่านอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ที่บ้านของคนไข้ จากผลสำรวจแนวทางการนำ Internet of Things[6] ไปใช้โดยสำรวจจากการค้นหาใน Google การแชร์ผ่าน Twitter และ Linkedin ดังรูปที่ 4 หัวข้อที่พบมากที่สุดคือ Smart Home หรือ ระบบบ้านอัจฉริยะ สำหรับในประเทศไทยนั้น หัวข้อที่น่าจะใกล้ตัวเรามากที่สุด ก็คงจะเป็น Wearable  ซึ่งเป็นกลุ่มอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับสวมใส่บนร่างกาย เช่นนาฬิกาอัจฉริยะ นั่นเอง   


รูปที่ 4 ผลสำรวจการประยุกต์ใช้งาน Internet of Things ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด

          จะเห็นได้ว่า สมัยนี้อะไรๆ ก็เป็น Smart ทั้งนั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการนำ Internet of Things มาใช้กับสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา แล้วถ้าเรานำคำว่า “Smart” มานำหน้าคำว่า “School” บ้างล่ะ ก็จะเป็น “Smart School” หรือโรงเรียนอัจฉริยะ แล้วโรงเรียนแบบนี้จะมีลักษณะพิเศษอย่างไร จะสามารถนำแนวคิดของ Internet of Things มาใช้ในโรงเรียนได้อย่างไรบ้าง

           การนำ Internet of Things มาใช้ในโรงเรียนนั้น ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันกับเทคโนโลยีคลาวด์ (cloud technology) และ อาร์เอฟไอดี(radio frequency identification:RFID) ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการในโรงเรียน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน [7] ดังนี้

image009
รูปที่ 5 การใช้งาน Mobile Learning ในโรงเรียน [8]      

  1. การจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองทุกที่ทุกเวลาด้วยระบบ Mobile Learning ผู้เรียนสามารถเข้าถึงบทเรียนได้ผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต เพื่อศึกษาเนื้อหาและอ่านทบทวนสร้างความเข้าใจของตนเองได้ตามที่ต้องการในด้านการทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนมอบหมาย ระบบจะมีการบันทึกคะแนนของผู้เรียนจากการทำกิจกรรมหรือแบบฝึกหัดต่างๆ ผ่านระบบคลาวด์ ช่วยลดภาระของผู้สอนในการประเมินผู้เรียนและอำนวยความสะดวกในการเตรียมเอกสารประกอบการเรียน ทั้งนี้ยังสามารถใช้สื่อสังคมออนไลน์มาช่วยในการอภิปรายแสดงความคิดเห็นหรือแบ่งปันข้อมูลได้อีกด้วย ซึ่งโรงเรียนจะต้องให้ความสำคัญเรื่องความเร็วและความปลอดภัยในการเข้าถึงระบบเครือข่ายของโรงเรียน
  2. การดำเนินงาน ให้ติดแท็ก RFID ในอุปกรณ์และทรัพยากรต่างๆ เช่น เครื่องฉายภาพ (projectors) จะช่วยให้ง่ายต่อการติดตาม ลดปัญหาอุปกรณ์สูญหาย ช่วยในการวางแผนจัดการ และตรวจสอบได้อย่างทันทีทันใด เมื่ออุปกรณ์ชิ้นใดชำรุดสามารถแจ้งซ่อมทันทีได้ผ่านสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ยังช่วยลดเวลาในการตรวจสอบว่านักเรียนมาเรียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมครบหรือไม่     ด้วยการติดแท็ก RFID ที่กระเป๋านักเรียน เมื่อนักเรียนเดินผ่านเครื่องสแกนก็จะเป็นการเช็คชื่อโดยอัตโนมัติ[9]

image010
รูปที่ 6 แท็ก RFID

  1. การรักษาความปลอดภัย โดยติดตั้งระบบ GPS (Global Positioning System)  กับรถโรงเรียนจะมีการแจ้งเตือนมายังสมาร์ทโฟนของผู้ปกครอง เมื่อรถโรงเรียนเดินทางมาใกล้จะถึงบ้านของนักเรียนแล้ว จะมีการแจ้งเตือนมายังสมาร์ทโฟน เพื่อให้เตรียมตัวขึ้นรถ  เมื่อนักเรียนขึ้นรถแล้ว ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบได้ว่าตอนนี้บุตรหลานของท่านอยู่ที่ใด นอกจากนี้ยังมีการใช้ ID Card หรือสายรัดข้อมือ  ในการตรวจสอบผู้ที่เข้ามาในเขตโรงเรียนเพื่อป้องกันคนแปลกปลอมเข้ามาในเขตโรงเรียน และยังใช้แทนเงินสดสำหรับซื้อของในโรงเรียนได้อีกด้วย[10]

image011 
รูปที่ 7 ตัวอย่าง ID Card นักเรียน     

            จะเห็นได้ว่า Internet of Things มีประโยชน์ในหลายๆด้าน ช่วยอำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนบางอย่างในชีวิตประจำวันของเราได้  ในอนาคตเราจะสามารถควบคุมการทำงานของสิ่งของทุกๆ อย่างรอบตัวได้ง่ายๆ ผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต เรียกได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในกำมือเลยก็ว่าได้ แต่สิ่งที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือความปลอดภัยในการใช้งาน ถ้าหากมิจฉาชีพเข้าถึงระบบควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ได้ ก็อาจสร้างความเสียหายต่อเราเป็นอย่างมาก ดังนั้นเราจึงต้องเข้าใจวิธีการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างปลอดภัย

             เรื่องพื้นฐานที่ควรคำนึงถึงก็คือ การตั้งรหัสผ่านให้มีความปลอดภัยสูง คาดเดายาก โดยสามารถตรวจสอบได้ว่ารหัสผ่านที่เราใช้อยู่นั้นสามารถคาดเดาได้ง่ายหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ https://howsecureismy password.net/  ถ้าพบว่ารหัสผ่านที่ใช้อยู่เป็นรหัสที่สามารถคาดเดาได้ก็คงถึงเวลาเปลี่ยน ซึ่งควรจะตั้งรหัสผ่านให้มีความยาวพอสมควรและเป็นรหัสที่สามารถจดจำได้ง่าย สามารถศึกษารายละเอียดการตั้งรหัสผ่านอย่างปลอดภัยได้ที่บทความเรื่อง การตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัย [11] นอกจากนี้ ควรจะตั้งค่าความปลอดภัยของระบบด้วย เช่น การกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึง การกำหนดจำนวนครั้งในการใส่รหัสผิด เพียงเท่านี้เราก็สามารถนำ Internet of Things มาช่วยอำนวยความสะดวกและใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย

 

ยกร่างบทความโดย นางสาววชิรพรรณ ทองวิจิตร
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาวิชาเทคโนโลยี สสวท.

อ้างอิง

  1. Margaret Rouse. Internet of Things (IoT) definition. [Online],
        Available: http://internetofthingsagenda.techtarget.com/definition/Internet-of-Things-IoT  [2016, Jan 25]
     
  2. Rich Brown. 2016. Touchscreen refrigerators and talking everything at CES 2016.[Online],
        Available: http://www.cnet.com/news/touchscreen-refrigerators-and-talking-everything-at-ces-2016/
                       [2016, Jan 26]
     
  3. How – to greek. 2015. What is a “Smart Washer”, and Do I Need One? [Online],
        Available: http://www.howtogeek.com/236286/what-is-a-smart-washer-and-do-i-Need-one/ [2016, Jan 25]
     
  4. Samsung. 2014. Gear 2. [Online],
        Available: http://www.samsung.com/th/consumer/mobile-devices/wearables/gear/SM-R3800VSATHO
                       [2016, Jan 26]
     
  5. ศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. The Internet of Things. [ออนไลน์],
        เข้าถึงจาก :http://its.sut.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=72&Itemid=468
                       [2559, มกราคม 26]
     
  6. IOT Analytics. 2015. The 10 most popular Internet of Things applications right now. [Online],
        Available: http://iot-analytics.com/10-internet-of-things-applications/ [2016, Jan 26]
     
  7. Zebra Technologies. How the Internet of Things Is Transforming Education. [Online],
        Available: http://www.zatar.com/sites/default/files/content/resources/Zebra_Education-Profile.pdf [2016, Jan 26]
     
  8. Thor Prichard. Envisioning the Future of Mobile Learning. [Online],
        Available: https://www.clarity-innovations.com/blog/tprichard/envisioning-future-mobile-learning [2016, Jan 27]
     
  9. Jonathan Bloom. 2015. Q&A: Scanning Away Food Waste? [Online],
        Available: http://www.wastedfood.com/2015/09/15/qa-scanning-away-food-waste/ [2016, Jan 27]
     
  10. Smart Tech Production. Student ID. [Online],
         Available: http://smarttech.com.hk/d/student-id [2016, Jan 27]
     
  11. พนมยงค์ แก้วประชุม. 2557. การตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัย. [ออนไลน์], 
         เข้าถึงจาก : http://oho.ipst.ac.th/secure-password/ [2559, มกราคม 27]

ประกาศผลการคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมวิทยากรแกนนำคอมพิวเตอร์ รุ่น 4

   ตามที่ สสวท. ประกาศรับสมัครครูผู้สอนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สมัครเพื่อเข้ารับคัดเลือกและอบรมเป็นวิทยากรแกนนำคอมพิวเตอร์รุ่นที่ 4 และปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 นั้น

annouce

คณะกรรมการได้เลือกผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้ารับการอบรมครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่  6 – 10 กรกฏาคม 2559  ลการคัดเลือกผู้ที่ผ่านการคัดเลือก และแนวทางการอบรม ดังแนบ(pdf) ทั้งนี้ขอให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการอบรมโปรดศึกษาแนวทางการอบรม การเตรียมตัว และกำหนดการ อย่างละเอียด และส่งแบบตอบรับการประชุมฯ ภายในวันที่ 27 มิถุนายน 2559 ไม่เช่นนั้นจะถือว่าท่านสละสิทธิ์ โดยส่งมายัง    e-mail : computer.ipst@gmail.com  หรือทางโทรสาร  0 2392 6628

หากมีข้อสงสัย ติดต่อสอบถามได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยี สสวท. โทร. 0 2392 4021 ต่อ 3413 (นายนิพนธ์ ศุภศรี)

หมายเหตุ: ผลการตัดสินของคณะกรรมการ ถือเป็นที่สิ้นสุด

 

ไฟล์แนบ

 

แจกฟรี กิจกรรมพัฒนาทักษะ ICT ระดับประถมศึกษา(กิจกรรม 6 ขยะมีประโยชน์)

กิจกรรมพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระดับประถมศึกษาตอนปลาย กิจกรรม 6 ขยะมีประโยชน์ เวลา  6 ชั่วโมง

act6

แนวคิด

การรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน การนำาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการจัดการสิ่งของเครื่องใช้ด้วยการแปรรูปแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นกระบวนการหนึ่งในการลดปริมาณขยะและช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมนี้ผู้เรียนจะได้ค้นหาและรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่เชื่อถือได้ เลือกซอฟต์แวร์ประยุกต์ในการจัดทำแบบบันทึกการสำารวจปริมาณขยะภายในบ้าน เปรียบเทียบ และจัดทำาสถิติ เพื่อหาแนวทางในการลดปริมาณขยะ สร้างชิ้นงานจากขยะให้สามารถกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น สรุปความรู้เป็นอินโฟกราฟิก นำาเสนอความรู้และแนวทางในการลดปริมาณขยะ

ดาวน์โหลด
pdf

คณะผู้พัฒนา
pdf

แจกฟรี กิจกรรมพัฒนาทักษะ ICT ระดับประถมศึกษา(กิจกรรม 5 My Space)

          กิจกรรมพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระดับประถมศึกษาตอนปลาย กิจกรรมที่ 5 My Space เวลา 4 ชั่วโมง

act5

แนวคิด

         กิจกรรมนี้นักเรียนจะได้รู้วิธีอ่านแผนที่ รู้จักแผนที่ของชุมชน ใช้โปรแกรมแผนที่หาพิกัดของสถานที่และเส้นทางจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งและพิจารณานำาพื้นที่ว่างในชุมชนมาใช้ประโยชน์โดยใช้ซอฟต์แวร์ในการสร้างอินโฟกราฟิก ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบ รู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของชุมชน
         นักเรียนจะได้ฝึกทักษะในการค้นหาข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการออกแบบอินโฟกราฟิก ซึ่งการออกแบบอินโฟกราฟิกจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิดวิเคราะห์ เพื่อสร้างชิ้นงานให้น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน

ดาวน์โหลด
pdf

คณะผู้พัฒนา
pdf

แจกฟรี กิจกรรมพัฒนาทักษะ ICT ระดับประถมศึกษา(กิจกรรม 4 คบเด็กสร้างเมือง)

          กิจกรรมพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระดับประถมศึกษาตอนปลาย กิจกรรมที่ 4 กิจกรรม คบเด็กสร้างเมือง เวลา 5 ชั่วโมง

act4
แนวคิด

         เมืองที่ประชาชนสามารถอาศัยอยู่อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น จะประกอบไปด้วยที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ระบบการขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค แหล่งธุรกิจ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดี การจัดการให้สถานที่ต่างๆ ตั้งอยู่ในตำาแหน่งที่เหมาะสมจะต้องมีการวางผังเมืองที่ดี ซึ่งอาศัยความรู้ในหลายๆ ด้าน เช่น สังคม สิ่งแวดล้อม คมนาคม
         นักเรียนจะได้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเมืองน่าอยู่ เพื่อพิจารณาออกแบบเมืองใหม่ให้น่าสนใจ โดยการร่างภาพผังเมือง เพื่อแสดงที่ตั้งของสถานที่ต่างๆ ใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ในการสร้างผังเมือง โดยกำาหนดมาตราส่วนเพื่อแสดงขนาดพื้นที่ของสถานที่ต่างๆ อีกด้วย
         กิจกรรมนี้ช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการออกแบบเมือง ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนได้เห็นความสำาคัญของสภาพชุมชน หรือเมืองที่ประชากรจะสามารถอยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างมีคุณภาพ

ดาวน์โหลด
pdf

คณะผู้พัฒนา
pdf