หากจะพูดถึงคำว่า “รหัส”อาจหมายถึงตัวเลข ตัวอักษร สัญลักษณ์ หรือภาพ ที่ใช้สื่อความหมายแทนข้อมูลเพื่อการสื่อสารที่รวดเร็ว หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “รหัสลับ”ซึ่งเป็นรหัสในการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ต้องการเปิดเผยและจะต้องเก็บรักษารหัสนี้ไว้เฉพาะบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กร เพื่อการรักษาข้อมูลที่สำคัญ แต่สำหรับรหัสบางประเภทกลับเป็นรหัสที่ต้องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่อยู่ภายในรหัสนี้มักถูกแสดงไว้ตามที่สาธารณะหรือตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้ง่ายเช่น ติดไว้ตามสื่อโฆษณา หนังสือ หรือสื่ออื่นๆ ที่มีผู้รับข้อมูลข่าวสารได้จำนวนมาก
รูปที่ 1 QR Code กับสื่อต่างๆ
จากรูปที่ 1 หลายคนคงเคยเห็นสัญลักษณ์แบบนี้มาบ้างแล้ว และบางคนคงนึกสงสัยว่าสัญลักษณ์นี้คืออะไร? มีความหมายอย่างไร? สัญลักษณ์นี้เรียกว่า“QR Code”(Quick Response Code) เป็นรหัสที่แทนข้อมูลเพื่อการเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว เช่น การชำระเงิน การเข้าสู่เว็บไซต์รายละเอียดสินค้าเพียงแค่ใช้โทรศัพท์มือถือหรือแทบเล็ตที่มีกล้องและติดตั้งโปรแกรมสำหรับอ่าน QR Code เช่น QR Code Reader , QR Droid Code Scanner,QuickMark ก็จะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนั้นได้
รูปที่ 2 QR Code
QR Code จัดเป็นบาร์โค้ดสองมิติ (Two-dimensional bar code: 2D bar code) สามารถอ่านข้อมูลได้ทุกทิศทางแม้จะเลอเสียหายบางส่วนก็ยังสามารถอ่านข้อมูลได้ นอกจากนี้ QR Code ยังใช้พื้นที่น้อยกว่าบาร์โค้ดชนิดอื่น สามารถย่อขนาดให้เล็กลงเพื่อติดในอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กได้
QR code มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีส่วนประกอบต่างๆ ดังนี้
Finder pattern สำหรับการตรวจหาตำแหน่งในการอ่านข้อมูล
Timing pattern สำหรับการตรวจตำแหน่งของแต่ละเซลล์
Alignment Pattern สำหรับแก้ไขการบิดเบือนของ QR Code
Quiet Zone เป็นพื้นที่ขอบQR Code
Data Areaหรือ Cell เป็นพื้นที่สำหรับเก็บข้อมูล
รูปที่ 3 ส่วนประกอบของ QR Code
QR Code ถูกสร้างโดยการเข้ารหัสที่ซับซ้อนและมีหลายขั้นตอน ผู้สนใจสามารถศึกษาวิธีการเข้ารหัสQR Code ได้ที่วารสารวิชาการหรือเว็บไซต์ต่างๆ เช่น วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชียปีที่ 3 ฉบับที่ 3 หน้า 26-32
รูปที่ 4 ตัวอย่างการเข้ารหัส QR Code
จะเห็นได้ว่าบางขั้นตอนนั้นจะต้องใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนปัจจุบันเราสามารถสร้าง QR Code ได้ง่ายๆ ด้วยการใช้โปรแกรมหรือจากเว็บไซต์ที่ให้บริการสร้าง QR Code ซึ่งสามารถบันทึกเป็นไฟล์รูปภาพนำไปใช้งานได้ เช่น http://tools.thaibizcenter.com/qrcode/ , http://tools.thaibizcenter.com/qrcode/ ,https://createqrcode.appspot.com/
ปัจจุบันนี้ได้เริ่มมีการนำคิวอาร์โค้ดมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากคิวอาร์โค้ด มีคุณสมบัติเด่นแตกต่างจากบาร์โค้ดแบบเดิมในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการบรรจุข้อมูลที่มากกว่า สามารถปรับขนาดเล็กใหญ่ได้ตามต้องการ สามารถประมวลผลได้หลายประเภท และความสามารถในการกู้คืนข้อมูลที่เสียหายได้ การนำเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ดไปใช้งานนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะประเภทของงาน เช่น ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ มีการติดบาร์โค้ดบนชิ้นส่วนอะไหล่ยนต์ต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลของอะไหล่ชิ้นนั้น เช่น ชื่อรุ่น รหัสอะไหล่ และประเภทของอะไหล่ ด้านสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ เช่น หนังสือพิมพ์ โปสเตอร์ แผ่นพับ หรือใบปลิว มีการนำคิวอาร์โค้ดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสื่อโฆษณา เพื่อให้ผู้พบเห็นเกิดความสนใจในตัวสินค้า และสามารถใช้มือถือที่มีกล้องอ่านคิวอาร์โค้ดเพื่อเชื่อมต่อลิงก์เข้าสู่เว็บไซต์ได้ นอกจากนี้หลายๆ ประเทศเริ่มใช้คิวอาร์โค้ดในบัตรเครดิด บัตรประกันสังคม ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ บัตรประจำตัวประชาชน ในอนาคตคิวอาร์โค้ดจะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นอย่างแน่นอน
ยกร่างบทความโดย นายพลกฤษณ์ รินทรึก โรงเรียนจำปาหลวงวิทยาคม จ.กาฬสินธุ์
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท
อ้างอิง
[1] สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ, แนะนำเทคโนโลยีบาร์โค้ด [ออนไลน์].เข้าถึงจาก http://www.nstda.or.th/nstda-knowledge/2866-2d-barcode [2015,Jan 21]
[2] นายอรรถพล วิเวก,การรับ-ส่งคิวอาร์โค้ดของรูปภาพผ่านระบบเอสเอ็มเอสบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต วิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2555.
[3] เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ: วิชาการดอทคอม,QR Code [ออนไลน์].เข้าถึงจาก http://www.vcharkarn.com/varticle/41376[2015,Jan 21]
[4] ธัชกร อ่อนบุญเอื้อ, บาร์โค้ด2 มิติสร้างได้อย่างไร, วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชีย. [ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 หน้า 26-32]