Skip to main content

Author: ohoadmin

ชุดอบรมครูโดยการศึกษาด้วยตนเองและคู่มือจัดการเรียนรู้

ผลการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2558

ioi2015-result

  ผลการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2558(ioi2015)  ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2558 ณ เมืองอัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน คือ 4 เหรียญเงิน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. นายธีมธรรศ จิรนันท์ธวัช โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้รับรางวัลเหรียญเงิน

2. นายภูมิรพี ลือนาม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้รับรางวัลเหรียญเงิน

3. นายนนทกฤษ ไชยวงศ์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน

4. นายพีรสิชฌ์ เจริญจิตเสรีวงศ์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายมัธยม ได้รับรางวัลเหรียญเงิน

โดยมีนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 324 คน และประเทศที่เข้าร่วมแข่งขัน 84 ประเทศ

ioi2015-2

   ในการเดินทางแข่งขันครั้งนี้มีคณะอาจารย์ผู้ฝึกสอนประกอบด้วย

  1. ผศ.ดร.จิตรทัศน์ ฝักเจริญผล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าทีม
  2. ดร.ธนาวินท์ รักธรรมานนท์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นรองหัวหน้าทีม
  3. ดร.ฆนัท ตั้งวงศ์ศานต์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยหัวหน้าทีม
  4. ดร.สันธนา ชัยมนตรี จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้สังเกตการณ์
  5. น.ส.วชิรพรรณ ทองวิจิตร จาก สสวท. เป็นผู้จัดการทีม
 

Raptor:เครื่องมือเพิ่มพลังการเรียนรู้การโปรแกรม

      ในการจัดการเรียนรู้เนื้อหาเกี่ยวกับขั้นตอนวิธี มีเครื่องมือที่ช่วยสอนอยู่หลากหลาย ในที่นี้สามารถใช้ RAPTOR ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถสร้างกระบวนการคิดแบบลำดับขั้น ถ่ายทอดกระบวนการคิดและตรวจสอบกระบวนการคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การสร้างกระบวนการคิดแบบลำดับขั้นด้วย RAPTOR

      ในการเรียนวิชาการเขียนโปรแกรม ผู้สอนมักสอนการถ่ายทอดกระบวนการคิดด้วยผังงาน รหัสลำลอง หรือขั้นตอนวิธี  โดยผังงานนั้นเป็นเครื่องมือที่การถ่ายทอดกระบวนการคิดในแบบรูปภาพทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ  

       RAPTOR เป็นเครื่องมือที่ถ่ายทอดกระบวนการคิดในรูปแบบผังงานที่ลักษณะภาพเคลื่อนไหว โดยจะมีการลำดับการทำงานของผังงานทีละขั้นตอน และจะแสดงค่าของตัวแปรอย่างชัดเจนในแต่ละรอบการทำงาน สามารถตรวจสอบกระบวนการคิดและตรวจสอบข้อผิดพลาดในขณะที่เขียนผังงานได้สะดวกและรวดเร็ว

       ผังงานทั้ง 3 รูปแบบคือ ผังงานแบบลำดับ ผังงานแบบทางเลือก และผังงานแบบวนซ้ำ นั้น ผังงานแบบวนซ้ำจะทำความเข้าใจได้ยากที่สุดเนื่องจากมีการทำกระบวนการหนึ่งหลายครั้งโดยมีเงื่อนไขในการควบคุมและค่าของตัวแปรในแต่ละรอบของการทำงานจะเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไข  การใช้ RAPTOR ถ่ายทอดกระบวนการคิดและแสดงค่าของตัวแปรให้นักเห็นได้ชัดเจน โดยแสดงเป็นภาพเคลื่อนไหว จะช่วยให้เข้าใจการทำงานแบบวนซ้ำได้มากยิ่งขึ้น

image001รูปที่ 1 โปรแกรมบวกเลขแบบอนุกรม

จากรูปที่ 1 การวนซ้ำแต่ละรอบทำให้ค่าของตัวแปรจะเปลี่ยนแปลงโดยจะแสดงผลทางด้านขวา ทำให้เข้าใจกระบวนการวนซ้ำได้ง่ายขึ้น สามารถนำความเข้าใจดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในขั้นของการเข้ารหัสต่อไป

เปลี่ยนจากผังงานเป็นโปรแกรมภาษา

            โปรแกรม Raptor สามารถแปลงผังงานเป็นโปรแกรมภาษาได้ เช่น Ada C# C++ และ JAVA โดยไปที่เมนู generate และเลือกภาษาที่ต้องการ

image002รูปที่ 2 การแปลงผังงานเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ด้วย RAPTOR

ตัวอย่างผลการแปลงผังงานเป็นโปรแกรมภาษา C++ ดังรูป

image003รูปที่ 3 ตัวอย่างคำสั่งโปรแกรมภาษา C++

            จากรูปที่  3 จะเห็นได้ว่าโปรแกรมที่ได้จะเป็นคำสั่งที่เป็นโครงร่างยังไม่สามารถนำไปแปลและประมวลผลได้ จะต้องมีการแก้ไขให้สมบูรณ์ตามหลักไวยากรณ์ของภาษาก่อนที่จะนำไปใช้ดังรูป

image004รูปที่ 4 โปรแกรมที่ปรับแก้ให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ภาษา

            จากรูปโปรแกรมที่ผ่านการปรับแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องสมบูรณ์ เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากหากมีความเข้าใจภาษาโปรแกรมและการถ่ายทอดกระบวนการคิดแบบลำดับขั้นได้อย่างถูกต้อง

** ผู้ที่สนใจสามารถ download RAPTOR และตัวอย่าง RAPTOR [3] ได้จาก http://raptor.martincarlisle.com/

ผลป้อนกลับจากการใช้ RAPOR เปรียบเทียบกับผังงาน

            การวิเคราะห์ปัญหาและลำดับกระบวนการคิดด้วยผังงานก่อนแปลงเป็นโปรแกรมภาษาจะทำให้โปรแกรมที่ได้มีประสิทธิภาพ ลดข้อผิดพลาด รวมไปถึงการบำรุงรักษา เปลี่ยนแปลงแก้ไขและทบทวนโปรแกรมได้ง่าย

            จากที่ผู้เขียนนำสร้างผังงานด้วย RAPTOR และวาดผังงานบนกระดาษมาใช้จัดการเรียนการสอนกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาวิชาการเขียนโปรแกรม พบว่า RAPTOR เป็นเครื่องมือถ่ายทอดและตรวจสอบกระบวนการคิดได้ดีกว่า เนื่องจาก RAPTOR แสดงการไหลของข้อมูลเป็นลักษณะภาพเคลื่อนไหว สามารถแสดงผลลัพธ์ชัดเจนกว่า

            จากตัวอย่างโปรแกรมบวกเลขแบบอนุกรมผู้เขียนได้จัดการเรียนรู้ 2 ลักษณะด้วยกัน คือสอนโดยการวาดผังงานลงกระดาษและสอนโดยใช้ RAPTOR พบว่าการสอนทั้ง 2 ลักษณะสร้างกระบวนการคิดแบบลำดับให้กับนักเรียนได้แตกต่างกัน หากนำ RAPTOR มาใช้ในการจัดการเรียนรู้จะพบว่าใช้ระยะเวลาการทำความเข้าใจน้อยกว่า  และง่ายต่อการอธิบาย เนื่องจาก RAPTOR จะแสดงผังงานเป็นภาพเคลื่อนไหว และมีส่วนของตัวแปรอยู่ทางด้านซ้ายมือของโปรแกรม ค่าของตัวแปรจะแปรผลตามเงื่อนไขของแต่ละรอบการทำงาน ซึ่งนักเรียนจะเห็นได้ชัดเจนกว่า ผังงานที่วาดลงกระดาษนั้น ผู้สอนจะต้องอธิบายเพิ่มเติม หากเป็นโปรแกรมที่มีจำนวนการวนรอบการทำงานหลายครั้งจะทำให้นักเรียนจะสับสนได้ง่าย ดังนั้นการนำ RAPTOR มาใช้ในการสอนวิชาการเขียนโปรแกรมจะเกิดประโยชน์ในการเรียนรู้ของผู้เรียนสูง

ยกร่างบทความโดย นางสาวมุทิตา สำเภาเงิน  โรงเรียนชัยนาทพิทยาคม
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท

อ้างอิง

  1. ธันวรุจน์ บูรณสุขสกุล(2558). ธรรมชาติของวัยรุ่น[ออนไลน์]. เข้าถึงได้ที่ http://www.smartteen.net/main/_admin/download/4-30-1387795341.pdf. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558.
  2. บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ (2557). ประเภทของ Flowchart[Online]. เข้าถึงได้ที่ http://www.thaiall.com/flowchart/indexo.html. สืบค้นวันที่ 20 มกราคม 2558.
  3. Elizabeth Drake and Stewart Venit(2011). RAPTOR Flowchart [Online].Web site http://raptor.martincarlisle.com/RAPTOR_data_files_Drake.pdf. Retrieved January, 20, 2015.

ทัศนคติกับการเรียนรู้การโปรแกรม

           คำพูดของครูจะมีผลกระทบต่อเด็กเป็นอย่างมาก สิ่งที่ครูพูดจะนำไปสู่กระบวนการคิด พฤติกรรม ปฏิกิริยาโต้ตอบ อารมณ์และการแสดงออก สามารถเป็นไปได้ทั้งแง่บวกและแง่ลบต่อพฤติกรรมของเด็ก ดังคำของนักจิตวิทยาเด็กชื่อ ดร.เฮม จีนอตต์ กล่าวว่า “คำพูดของพ่อแม่และครูมีผลกระทบต่อการยอมรับนับถือและคุณค่าในตัวของเด็ก ซึ่งวิธีการสื่อสาร จะเป็นตัวกำหนดชีวิตในอนาคต” [1] ครูเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตและชะตากรรมของเด็ก จึง ควรเรียนรู้และศึกษาทักษะวิธีการสื่อสารที่ดีในการสอนแล้วนำมาใช้พัฒนาเด็ก ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลเพื่อช่วยให้เกิดทัศนคติแง่บวกต่อการเรียนรู้

ทำไมเด็กไม่อยากเรียน?

            สำหรับเด็กที่ไม่อยากเรียนอาจมาจากการมีทัศนคติแง่ลบกับการเรียน เช่น การเรียนหนังสือไม่รู้สึกท้าทาย ขาดแรงจูงใจ ไม่เห็นประโยชน์ของการเรียน ไม่สามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ ขาดทักษะที่จะใช้ในการเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอนของครูทำลายความอยากเรียนรู้  [2]

           ทัศนคติ คือความรู้สึกและท่าทีของคนเราที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นความรู้สึกในทางชอบ ไม่ชอบและมีผลทำให้บุคคลพร้อมที่จะตอบสนองต่อสิ่งนั้นตามความรู้สึกดังกล่าว ธรรมชาติของทัศนคติจะเกิดจากการเรียนรู้และประสบการณ์ของบุคคล  เกิดจากความรู้สึกที่สะสมมานาน เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคคลโดยทั่วไป สามารถถ่ายทอดไปสู่ผู้อื่นได้ และเปลี่ยนแปลงได้ [3],[5]

ทัศนคติในแง่บวกจึงเป็นเป็นหัวใจสำคัญของการอยากเรียนรู้ และส่งผลต่อการเรียนรู้ที่ดีมีประสิทธิภาพ ดังนั้นครูจึงจำเป็นจะต้องปรับทัศนคติกับการเรียนของเด็กให้เป็นแง่บวก รับฟัง สร้างความเป็นมิตร สร้างความเคารพนับถือ และชี้นำให้เห็นประโยชน์ในการเรียน เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เมื่อเด็กรู้สึกอย่างไรจะแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกัน หากเด็กรู้สึกดีจะมีความประพฤติดี

ทัศนคติแง่บวกกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

        ในการเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย วิชาการเขียนโปรแกรม เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งมีทัศนคติต่อการเรียนวิชานี้ว่า “หนูไม่ชอบการคำนวณ สูตร และสัญลักษณ์ประหลาดพวกนี้เลย” “หนูคิดว่ามันยากเกินไปที่สมองน้อยๆของหนูจะรับไหว” “ผมว่าผมคงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการเขียนโปรแกรมซักเท่าไร” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติแง่ลบที่มีต่อการเรียนวิชาการเขียนโปรแกรม

       ทัศนคติ เกิดจากความรู้ ความรู้สึกและความโน้มเอียงที่จะเกิดพฤติกรรม ซึ่งทั้งสามส่วนนี้มีอิทธิพลต่อกัน หากองค์ประกอบใดมีการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อทัศนคติที่เปลี่ยนไป ในที่นี้จะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบด้านความรู้สึก เพื่อเชื่อมโยงถึงการโน้มเอียงที่จะเกิดพฤติกรรม [4]

                ลองพิจารณาว่า ถ้าเราเป็นเด็กเราจะรู้สึกอย่างไรเมื่อสอบได้คะแนนไม่ดี แล้วครูพูดในลักษณะ ดังนี้[3]

  • A “ไม่มีเรื่องอะไรต้องมานั่งเสียใจ มันผ่านไปแล้วนี่นา แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว”
  • B  “ชีวิตมันก็อย่างนี้แหล่ะ ต้องมีความผิดพลาดไว้เป็นบทเรียน” 
  • C “ลองฝึกกันดูใหม่ไหม ฝึกตรงส่วนที่ผิดพลาดเพิ่มนะ”
  • D “หนูคิดว่าหนูผิดพลาดตรงไหนกัน ลองคิดซิ”
  • E  “โถ่! พลาดไปนิดเดียวเองเน๊อะ”

     จากสถานการณ์ดังกล่าวมีครูจำนวนไม่น้อยที่ใช้คำพูดเหล่านี้โดย ข้อ A ครูต้องการให้เด็กละทิ้งความเสียใจ ข้อ B ครูต้องการให้แง่คิดในเชิงปรัชญา ข้อ C ครูให้คำแนะนำในการเพียรพยายามเพิ่มขึ้น ข้อ D ครูให้เด็กตั้งคำถามเพื่อหาทางแก้ไขข้อผิดพลาด ข้อ E ครู ร่วมแสดงความเห็นอกเห็นใจ   คำพูดเหล่านี้ครูอาจต้องใช้ภาษากายและน้ำเสียงร่วมด้วย โดยต้องพิจารณาเลือกคำพูดให้เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบทพื้นฐานที่แตกต่าง ของแต่ละคน เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าได้รับการยอมรับและระบายความรู้สึกที่แท้จริงออกมา ครูจึงสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ได้อย่าง มีประสิทธิภาพ

     การเรียนรู้ที่ประสบผลสำเร็จ มีจุดเริ่มต้นจากทัศนคติ การสร้างทัศนคติแง่บวกคือ รับฟัง สร้างความเป็นมิตร ใส่หรือปรับความคิดใหม่โดยประเมินสภาพการยอมรับให้เหมาะสมกับพฤติกรรมรายบุคคล สร้างแบบอย่างที่ได้รับความนับถือ และชี้นำให้เห็นประโยชน์ที่เด็กได้รับ หากครูสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของเด็กเป็นแง่บวกได้ การจัดการเรียนรู้ก็จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะแตกต่างไปตามความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้ของเด็ก เด็กบางกลุ่มค้นพบว่าตัวเองชอบเขียนโปรแกรม ขณะที่บางกลุ่มที่ไม่ชอบการเขียนโปรแกรม ก็ไม่รู้สึกอึดอัดหรือลำบากใจที่จะเรียนวิชานี้ แม้ว่าครูจะไม่สามารถทำให้เด็กทุกคนรักที่จะเขียนโปรแกรม แต่ก็สามารถทำให้เด็กบรรลุวัตถุประสงค์ขั้นต้นของการเขียนโปรแกรมได้ทุกชั้นเรียน

 

ยกร่างบทความโดย นางสาวมุทิตา สำเภาเงิน  โรงเรียนชัยนาทพิทยาคม
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท

อ้างอิง

  1. บุษกริน  นิติวงศ์(2557). วิธีการพูดและสอนเด็ก เพื่อกระตุ่นให้เขาอยากเรียนรู้ –ฉบับปรับปรุง. กรุงเทพฯ:บี มีเดีย กรุ๊ป(ประเทศไทย)
  2. ไทย สเตมไลฟ์(2558). ทำไมเด็กไม่อยากเรียน[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://thaistemlife.co.th/com/?n=307. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558
  3. สุริยเดว  ทรีปาตี(2558). จิตวิยาวัยรุ่น[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.nicfd.cf.mahidol.ac.th/th/images/documents/3.pdf. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558
  4. จิรกุล  ครบสอน(2555). ความเครียดและพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของวัยรุ่นในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. สาขาวิชาการพยาบาลเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.
  5. กชณา  สามชูสินธุ์(2558). ทัศนคติและความสนใจ[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://docs.google.com/document/d/1VJWPKJdgeonoVxDPOHbK8Jzi5lksAKujmsNajnCaCUI/edit?sort=name&layout=list&pid=0B49o_E87-am7OGQ5OTk4OTEtZmFmYi00MDcwLTk3ZGYtNTZmYmQ5NzAyNDFh&cindex=1. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558

การใช้ Social Media กับการศึกษา

image001ภาพที่ 1  ผู้เรียนสร้างผลงานจากการเรียนรู้ด้วยสื่อสังคม      

        เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายและมีอิสระที่จะเข้าไปแบ่งปัน เผยแพร่ความรู้ที่ต้องการ สามารถแลกเปลี่ยน รวมทั้งเสนอความคิดได้โดยไม่ถูกปิดกั้นภายใต้กฎหมายที่กำหนด ก่อให้เกิดเครือข่ายที่เรียกว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์(Social network) เพื่อติดต่อสื่อสารกัน  โดยมีสื่อสังคม(Social Media) เป็นเครื่องมือในการแบ่งปันแลกเปลี่ยน รูปภาพ วีดีโอ เสียง และข้อความ  สามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน

image002-1ภาพที่ 2  ตัวอย่างเว็บบล็อกที่รวบรวมสื่อสังคม และใช้ในการจัดการเรียนการสอน

         การนำสื่อสังคมมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการศึกษาถือเป็นโอกาสที่เราจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งบางคนจะเห็นว่าการใช้งานสื่อสังคมเป็นเพียงการเล่นสนุก ไร้สาระ ไม่เกิดประโยชน์ เหมือนสิ่งเสพติด เสียเวลาเรียน เสียเวลาทำงาน แต่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีด้านดี และไม่ดี หากเรารู้จักการใช้ที่ถูกต้อง และสร้างสรรค์ เราจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการใช้งาน

image003ภาพที่ 3 การนำ Slideshare มาใช้ในการนำเสนองานในรูปแบบสไลด์        

       การนำสื่อสังคม เช่น Facebook, Slideshare, Flickr, Scribd และ Youtube  มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ถือเป็นเครื่องมือที่หลากหลายในการใช้งาน เราสามารถนำสื่อสังคม เหล่านี้มารวบรวมและสร้างเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพได้อย่างน่าสนใจ โดยจุดเด่นของสื่อสังคม แต่ละชนิดที่มีรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างกัน เมื่อนำมารวบรวมและบริหารจัดการให้ดี เราจะสามารถได้แหล่งเรียนรู้ผ่านสื่อสังคม ที่มีความน่าสนใจ อาทิเช่น การนำ Facebook มาทำหน้าที่เป็นกระดานข่าว ใช้ในการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล, นำ Slideshare มาใช้ในการนำเสนองานในรูปแบบสไลด์,  ใช้  Flickr ในการนำเสนอรูปภาพ, นำเสนอเอกสารด้วย Scribd และใช้ Youtube ในการนำเสนอวีดิโอ การรวบรวมสื่อสังคมเหล่านี้ มาใช้ประโยชน์กับการเรียนการสอน ทำให้ ผู้เรียนเกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้ สามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำกัดจำนวนครั้ง อีกทั้งยังสามารถดาวน์โหลดเพื่อใช้ทบทวนความรู้แบบออฟไลน์ได้อีกด้วย

image004ภาพที่ 4  การนำสื่อสังคม Youtube มานำเสนอเป็นสื่อการเรียนรู้

        สื่อสังคมเหล่านี้ผู้สอนและผู้เรียนได้ใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว หากนำมาใช้ในการเรียนการสอนทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ในสิ่งที่สนใจร่วมกันอย่างสะดวกรวดเร็ว ในขณะเดียวกันผู้สอนสามารถนำสื่อสังคมมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เว็บบล็อก เช่น www.wordpress.com รวบรวมสื่อสังคมประเภทต่างๆ มาบริหารจัดการให้เกิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์  
image005ภาพที่ 6  ผลงานของนักเรียนหลังจากเรียนรู้จากสื่อสังคม สามารถสร้างผลงานได้อย่างสร้างสรรค์

ยกร่างบทความโดย นางอารีลักษณ์ ปุ๊กน้อย  โรงเรียนเทพสุวรรณชาญวิทยา  จ. สมุทรสงคราม
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.

คุณธรรมจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต

 

image001

ภาพที่ 1 การใช้งานอินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน

        อินเทอร์เน็ตถือเป็นสิ่งจำเป็นของสังคมในปัจจุบันของบุคคล ทุกเพศ ทุกวัย   ลองหันมองคนรอบๆ ข้างไม่ว่าจะขณะทานข้าว  นั่งรถโดยสาร หรือขณะเดินอยู่ก็ยังใช้อินเทอร์เน็ต จนเกือบเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต บางคนอยู่กับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลาทั้งใช้เพื่อการทำงาน  การศึกษา ความบันเทิง

image002

ภาพที่ 2 การใช้งานคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ต่างๆ

การใช้งานอินเทอร์เน็ตมีหลากหลายรูปแบบทั้งเพื่อค้นหาข้อมูล รับส่งข้อมูลข่าวสาร ดูหนัง ฟังเพลง ประชาสัมพันธ์  แลกเปลี่ยนความรู้ ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยได้รับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่หลากหลาย สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว

     นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อทำลายชื่อเสียง หลอกลวง สร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น เช่น หลอกลวงเพื่อขอบริจาคทรัพย์และสิ่งของ การนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ นำเสนอวิดีโอและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน

     จะเห็นได้ว่าโลกอินเทอร์เน็ตมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารทั้งด้านบวก และด้านลบ ดังนั้นผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารมีจำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลก่อนการตัดสินใจ โดยการค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ และน่าเชื่อถือ หากตัดสินใจโดยไม่ได้ไตร่ตรองอาจส่งผลเสียตามมาได้ ในขณะเดียวกันผู้นำเสนอควรมีคุณธรรมจริยธรรมในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ให้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและถูกต้อง ใช้ถ้อยคำที่สุภาพเหมาะสม การกล่าวถึงบุคคลอื่นควรระมัดระวังในการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือสร้างความเสียหายให้แก่บุคคลนั้นๆ  รวมถึงการเผยแพร่ข้อความของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นจึงควรใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม ตามบัญญัติ 10 ประการ [1] ซึ่งเป็นจรรยาบรรณที่ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ต้องยึดถือไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ผู้ใช้พึงระลึกและเตือนความจำเสมอ ดังนี้

                1. ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์ทำร้าย หรือละเมิดผู้อื่น เช่น ไม่ควรโพสต์ข้อความกล่าวหาบุคคลอื่นให้ได้รับความเสียหาย ไม่ควรโพสต์รูปภาพอนาจาร
                2. ต้องไม่รบกวนการทำงานของผู้อื่น เช่น เปิดฟังเพลงด้วยคอมพิวเตอร์ หรือเล่นเกมรบกวนผู้อื่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
                3. ต้องไม่สอดแนม แก้ไข หรือเปิดดูแฟ้มข้อมูลของผู้อื่น เช่น แอบเปิดอ่านอีเมลของเพื่อน แก้ไขข้อความของผู้อื่นที่ได้เผยแพร่ข้อความไว้แล้วก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย
                4. ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการโจรกรรมข้อมูลข่าวสาร เช่น การแอบเจาะระบบเพื่อขโมยข้อมูลการค้าของบริษัท ขโมยรหัสบัตรเครดิต
                5. ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างหลักฐานที่เป็นเท็จ เช่น การแอบเจาะระบบเพื่อเปลี่ยนแปลงคะแนน
                6. ต้องไม่คัดลอกโปรแกรมของผู้อื่นที่มีลิขสิทธิ์ เช่น ดาวน์โหลดโปรแกรมที่มีลิขสิทธิ์มาใช้ โดยมีโปรแกรมแก้ไขเพื่อให้ใช้งานได้
                7. ต้องไม่ละเมิดการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์โดยที่ตนเองไม่มีสิทธิ์ เช่น ไม่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือไม่ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าใช้
                8. ต้องไม่นำเอาผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน เช่น คัดลอกผลงานของเพื่อน และนำมาเสนอในเว็บบล็อกของตนเอง โดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา
                9. ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากโปรแกรมที่ตัวเองพัฒนาขึ้น
                10. ต้องใช้คอมพิวเตอร์โดยเคารพกฎระเบียบ กติกา และมารยาทของสังคมนั้น

         image004

ภาพที่ 3 มีความสุขกับการใช้งานคอมพิวเตอร์

          หากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีคุณธรรมจริยธรรม  เคารพกฎกติกาและกฎระเบียบของสังคม มีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลอย่างถูกต้อง  ไม่เผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ตระหนักถึงการกระทำที่จะส่งผลเสียต่อสังคม จะทำให้สังคมอินเทอร์เน็ตเป็นสังคมที่น่าเชื่อถือ เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์  มีความปลอดภัย และสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีความสุข

ยกร่างบทความโดย นางอารีลักษณ์ ปุ๊กน้อย  โรงเรียนเทพสุวรรณชาญวิทยา  จ. สมุทรสงคราม
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.

อ้างอิง :

1.  สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร.  กรุงเทพฯ : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. กระทรวงศึกษาธิการ, 2553.

จาก Flowchart สู่ Scratch

          สิ่งสำคัญของการแก้ปัญหาใดๆ คือการกระบวนการแก้ปัญหา ในวิชาด้านวิทยาคอมพิวเตอร์เรียกว่าขั้นตอนวิธี (Algorithm)   ในการโปรแกรม (Programming) ครูผู้สอนจำเป็นจะต้องฝึกให้นักเรียนแสดงแนวความคิดในการแก้ปัญหาของตนโดยใช้รหัสลำลอง (Pseudocode) หรือ ผังงาน (Flowchart) ซึ่งเป็นเครื่องมือสากลที่ใช้ในการแสดงขั้นตอนการแก้ปัญหาทางคอมพิวเตอร์

          ปัญหาที่ครูผู้สอนพบในการสอนเขียนผังงานหรือรหัสลำลองคือ นักเรียนไม่เข้าใจการทำงานของโครงสร้างแบบมีเงื่อนไขและการทำซ้ำ การเขียนผังงานตามความเข้าใจจึงอาจทำให้ได้ผลลัพธ์ไม่ตรงตามความต้องการหรือได้ผังงานที่ไม่ถูกต้อง วิธีการหนึ่งที่จะช่วยตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียนในการเขียนผังงานคือการนำผังงานไปเขียนโปรแกรม Scratch

          Scratchเป็นโปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยสถาบัน MIT (The Massachusetts Institute of Technology) มีบล็อกคำสั่งที่นำมาวางต่อกัน ผู้ใช้ไม่ต้องพิมพ์คำสั่งใหม่ทั้งหมด จึงช่วยลดข้อผิดพลาดในการพิมพ์ นอกจากนี้ยังมีบล็อกที่ช่วยควบคุมการทำงานแบบมีเงื่อนไขและทำซ้ำ โดยผู้ใช้สามารถกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมลงในโครงสร้างเหล่านี้ได้

  2015.06.29_003

รูปที่ 1 แสดงตัวอย่างคำสั่งในบล็อคควบคุม

ตัวอย่างการทำงานแบบมีเงื่อนไข เช่น พ่อค้าคนกลางจะต้องคัดเลือกปลาที่มีน้ำหนักตัวระหว่าง 5 ขีด ถึง 8 ขีด เพื่อส่งร้านอาหาร ให้เขียนโปรแกรมรับน้ำหนักปลาแต่ละตัว ตัวใดมีน้ำหนักอยู่ในช่วงดังกล่าวให้แสดงคำว่า “Pass”

      จากโจทย์แสดงว่าจะต้องมีการรับค่าน้ำหนักปลาแต่ละตัวเข้ามา โดยค่าที่รับจะรับเป็นจำนวนเต็มเท่านั้น นำมาตรวจสอบว่าน้ำหนักปลาตรงอยู่ในช่วง 5-8 ขีดหรือไม่ จะเขียนผังงานได้ดังรูปที่ 2

บล็อคควบคุม

รูปที่ 2 แสดงผังงานและ Scratch Script แสดงการทำงานแบบมีเงื่อนไข

          จากรูปที่ 2 เมื่อเขียนผังงานแล้วสามารถแปลงเป็นสคริปต์ โดยรับค่าด้วยบล็อก ask ค่าที่ผู้ใช้ป้อนจะถูกเก็บไว้ในบล็อก answer จึงใช้บล็อก set…to เพื่อนำค่าจากบล็อก answer เก็บไว้ในตัวแปร fishWeight แล้วนำค่าในตัวแปร fishWeight ไปเปรียบเทียบโดยใช้บล็อก if…then เมื่อเงื่อนไขที่กำหนด ( fishWeight > 4 ) and ( fishWeight < 9 ) เป็นจริง จะแสดงข้อความ Pass ด้วยบล็อก say หากไม่จริง จะสิ้นสุดการทำงาน

ตัวอย่างการทำงานแบบทำซ้ำ เช่น จงเขียนโปรแกรมหาผลรวมของเลข 1 – 10

          จากโจทย์เป็นการหาผลรวมของเลข 1 – 10 จึงต้องมีตัวนับจำนวนรอบในการทำงานและรันตัวเลข 1-10 ในตัวอย่างนี้ใช้ตัวแปร count เป็นตัวนับและรันตัวเลข ใช้ตัวแปร sum เก็บค่าผลรวม จำนวนรอบในการทำงานคือ 10 รอบ จึงตั้งเงื่อนไขในการทำซ้ำเป็น count <= 10 หมายความว่าจำมีการทำซ้ำเมื่อตัวแปร count มีค่าเป็น 1, 2, 3, …, 10 สามารเขียนผังงานได้ดังรูปที่ 3

2015.06.29_002

รูปที่ 3 แสดงผังงานและ Scratch Script แสดงการทำงานแบบทำซ้ำ

         จากผังงานในรูปที่ 3 สามารถแปลงเป็นสคริปต์ โดยใช้บล็อก set…to ในการกำหนดค่าเริ่มต้นให้กับตัวแปร ในที่นี้จะใช้กับตัวแปร sum และ count ในส่วนของการทำซ้ำของโปรแกรม Scratch จะมีบล็อกไว้กำหนดจำนวนรอบในการทำซ้ำได้เลย คือ บล็อก repeat เปรียบเทียบกับผังงานคือการตรวจสอบค่าในตัวแปร count เมื่อเงื่อนไขเป็นจริง เมื่อเงื่อนไขเป็นจริงจะทำการหาผลรวม โดยนำค่าที่อยู่ในตัวแปร sum มาเพิ่มค่าโดยใช้นิพจน์ sum = sum+count ตรงกับบล็อก set…for 1 secs (เพิ่ม for 1 secs เพื่อให้เห็นค่าที่ได้จากการคำนวณในขณะรันสคริปต์) ซึ่ง count จะมีการเพิ่มค่าครั้งละ 1 ด้วยบล็อก change … by

         จากตัวอย่างข้างต้น เมื่อผู้เรียนใช้ Scratch ในการตรวจสอบผลลัพธ์จะทำให้เกิดความเข้าใจลำดับและวิธีเขียนผังงานได้มากยิ่งขึ้น หากผลการทำงานของโปรแกรมไม่เป็นไปตามความต้องการ สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปที่ผังงานที่เขียนขึ้นว่าเกิดข้อผิดพลาดในขั้นตอนใด

          การนำ Scratch มาช่วยในการทำความเข้าใจเรื่องผังงาน เป็นวิธีการหนึ่งที่เหมาะกับผู้เรียนที่เริ่มต้นเรียนรู้การเขียนผังงาน เนื่องจาก Scratch ใช้งานง่าย และสามารถเชื่อมโยงลำดับความคิดในผังงานแต่ละขั้น     ไปยังสคริปต์แต่ละคำสั่งได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อผู้เรียนมีทักษะในการเขียนผังงานได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็จะสามารถถ่ายทอดความคิดจากผังงานไปสู่การเขียนโปรแกรมได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเขียนโปรแกรมด้วยภาษาใดก็ตาม

ยกร่างบทความโดย นางสาวชุลีพร สืบสิน  โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต จ.ภูเก็ต
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.

รหัส(ไม่)ลับ…. “QR Code”

         หากจะพูดถึงคำว่า “รหัส”อาจหมายถึงตัวเลข  ตัวอักษร  สัญลักษณ์  หรือภาพ ที่ใช้สื่อความหมายแทนข้อมูลเพื่อการสื่อสารที่รวดเร็ว หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “รหัสลับซึ่งเป็นรหัสในการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ต้องการเปิดเผยและจะต้องเก็บรักษารหัสนี้ไว้เฉพาะบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กร เพื่อการรักษาข้อมูลที่สำคัญ แต่สำหรับรหัสบางประเภทกลับเป็นรหัสที่ต้องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่อยู่ภายในรหัสนี้มักถูกแสดงไว้ตามที่สาธารณะหรือตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้ง่ายเช่น  ติดไว้ตามสื่อโฆษณา  หนังสือ หรือสื่ออื่นๆ ที่มีผู้รับข้อมูลข่าวสารได้จำนวนมาก 

qr-on-productรูปที่ 1 QR Code กับสื่อต่างๆ

จากรูปที่ 1 หลายคนคงเคยเห็นสัญลักษณ์แบบนี้มาบ้างแล้ว  และบางคนคงนึกสงสัยว่าสัญลักษณ์นี้คืออะไร? มีความหมายอย่างไร? สัญลักษณ์นี้เรียกว่า“QR Code”(Quick Response Code)  เป็นรหัสที่แทนข้อมูลเพื่อการเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว เช่น การชำระเงิน การเข้าสู่เว็บไซต์รายละเอียดสินค้าเพียงแค่ใช้โทรศัพท์มือถือหรือแทบเล็ตที่มีกล้องและติดตั้งโปรแกรมสำหรับอ่าน QR Code เช่น QR Code Reader , QR Droid Code Scanner,QuickMark  ก็จะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนั้นได้

image001  รูปที่ 2 QR Code

QR Code จัดเป็นบาร์โค้ดสองมิติ (Two-dimensional bar code: 2D bar code) สามารถอ่านข้อมูลได้ทุกทิศทางแม้จะเลอเสียหายบางส่วนก็ยังสามารถอ่านข้อมูลได้ นอกจากนี้ QR Code ยังใช้พื้นที่น้อยกว่าบาร์โค้ดชนิดอื่น สามารถย่อขนาดให้เล็กลงเพื่อติดในอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กได้

QR code มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีส่วนประกอบต่างๆ ดังนี้

Finder pattern สำหรับการตรวจหาตำแหน่งในการอ่านข้อมูล

Timing pattern สำหรับการตรวจตำแหน่งของแต่ละเซลล์

Alignment Pattern สำหรับแก้ไขการบิดเบือนของ QR Code

Quiet Zone เป็นพื้นที่ขอบQR Code

Data Areaหรือ Cell เป็นพื้นที่สำหรับเก็บข้อมูล

image004รูปที่ 3 ส่วนประกอบของ QR Code

QR Code ถูกสร้างโดยการเข้ารหัสที่ซับซ้อนและมีหลายขั้นตอน ผู้สนใจสามารถศึกษาวิธีการเข้ารหัสQR Code ได้ที่วารสารวิชาการหรือเว็บไซต์ต่างๆ เช่น วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชียปีที่ 3 ฉบับที่ 3 หน้า 26-32

image003รูปที่ 4 ตัวอย่างการเข้ารหัส QR Code

          จะเห็นได้ว่าบางขั้นตอนนั้นจะต้องใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนปัจจุบันเราสามารถสร้าง QR Code ได้ง่ายๆ ด้วยการใช้โปรแกรมหรือจากเว็บไซต์ที่ให้บริการสร้าง QR Code ซึ่งสามารถบันทึกเป็นไฟล์รูปภาพนำไปใช้งานได้ เช่น  http://tools.thaibizcenter.com/qrcode/ , http://tools.thaibizcenter.com/qrcode/ ,https://createqrcode.appspot.com/

          ปัจจุบันนี้ได้เริ่มมีการนำคิวอาร์โค้ดมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากคิวอาร์โค้ด มีคุณสมบัติเด่นแตกต่างจากบาร์โค้ดแบบเดิมในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการบรรจุข้อมูลที่มากกว่า สามารถปรับขนาดเล็กใหญ่ได้ตามต้องการ  สามารถประมวลผลได้หลายประเภท  และความสามารถในการกู้คืนข้อมูลที่เสียหายได้ การนำเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ดไปใช้งานนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะประเภทของงาน เช่น ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ มีการติดบาร์โค้ดบนชิ้นส่วนอะไหล่ยนต์ต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลของอะไหล่ชิ้นนั้น เช่น ชื่อรุ่น รหัสอะไหล่ และประเภทของอะไหล่  ด้านสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ เช่น หนังสือพิมพ์ โปสเตอร์ แผ่นพับ หรือใบปลิว  มีการนำคิวอาร์โค้ดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสื่อโฆษณา เพื่อให้ผู้พบเห็นเกิดความสนใจในตัวสินค้า และสามารถใช้มือถือที่มีกล้องอ่านคิวอาร์โค้ดเพื่อเชื่อมต่อลิงก์เข้าสู่เว็บไซต์ได้  นอกจากนี้หลายๆ ประเทศเริ่มใช้คิวอาร์โค้ดในบัตรเครดิด  บัตรประกันสังคม  ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์  บัตรประจำตัวประชาชน  ในอนาคตคิวอาร์โค้ดจะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นอย่างแน่นอน

ยกร่างบทความโดย นายพลกฤษณ์  รินทรึก โรงเรียนจำปาหลวงวิทยาคม  จ.กาฬสินธุ์
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท

อ้างอิง

[1]      สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ, แนะนำเทคโนโลยีบาร์โค้ด [ออนไลน์].เข้าถึงจาก http://www.nstda.or.th/nstda-knowledge/2866-2d-barcode [2015,Jan 21]

[2]      นายอรรถพล วิเวก,การรับ-ส่งคิวอาร์โค้ดของรูปภาพผ่านระบบเอสเอ็มเอสบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต วิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2555.

[3]      เศรษฐพงค์  มะลิสุวรรณ: วิชาการดอทคอม,QR Code [ออนไลน์].เข้าถึงจาก http://www.vcharkarn.com/varticle/41376[2015,Jan 21]

[4]      ธัชกร อ่อนบุญเอื้อ, บาร์โค้ด2 มิติสร้างได้อย่างไร, วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชีย. [ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 หน้า 26-32]

 

บริการจากกูเกิลกับชีวิตประจำวัน

        หลายคนอาจรู้จักกูเกิลในฐานะเว็บไซต์ที่ให้บริการค้นหาข้อมูล (search engine) ที่มีความรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริการค้นหาข้อมูลที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน

google logoรูปที่ 1 ตราสัญลักษณ์บริษัทกูเกิล[1]

  นอกจากบริการค้นหาข้อมูลแล้ว กูเกิลมีบริการหลายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน

image002image003

รูปที่ 2 บริการค้นหาข้อมูลของ google

เช่น เตือนความจำ ตารางนัดหมาย สนทนา อีเมล แปลภาษา ตัวอย่างบริการของกูเกิลดังนี้

  • Gmail บริการรับส่งอีเมลเพื่อการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ผู้ที่มีบัญชีผู้ใช้ Gmail สามารถใช้เชื่อมโยงกับบริการอื่นๆ ของกูเกิลได้ เข้าใช้บริการได้ที่ www.gmail.com หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต

Gmail

รูปที่ 3 Gmail

  • Google Calendar  บริการปฏิทินและสมุดนัดหมาย ผู้ใช้สามารถทำการบันทึกวันเวลาของการนัดหมาย กำหนดแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนถึงเวลานัดได้โดยเลือกว่าจะให้เตือนผ่านป๊อบอัพหรืออีเมล นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งปันตารางนัดหมายกับบุคคลอื่นได้ เข้าใช้บริการได้ที่ www.google.com/calendar หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต

 

Google Calendar

รูปที่ 4 Google Calendar

  • Google Search บริการค้นหาข้อมูลที่เป็นข้อความ ภาพ เสียง และวิดีโอ โดยสามารถกำหนดรายละเอียดในการค้นหาเช่น ช่วงเวลาที่ข้อมูลนั้นๆ ถูกอัพโหลด ชนิดของไฟล์ รูปแบบของภาพ  ขนาดของภาพ  เข้าใช้บริการได้ที่ www.google.com หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต
  • Google+ บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social networking) ทำให้เราแบ่งปันข้อมูลทั้งข้อความ ภาพ เสียง กับเพื่อนที่อยู่ในแวดวง (circle) ได้ เข้าใช้บริการได้ที่ https://plus.google.com หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต

 Google+

รูปที่ 5  Google+ [2]

  • Hangouts บริการสำหรับติดต่อสื่อสารผ่านข้อความ เสียงหรือวิดีโอ การสนทนาผ่านวิดีโอนั้นสามารถพูดคุยเป็นกลุ่มได้ครั้งละไม่เกิน 10 คน[3]   การเข้าใช้บริการต้องใช้ผ่าน Google+ ที่ https://plus.google.com/ หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต

image008

รูปที่ 6  โปรแกรม Hangouts

  • Google Drive บริการพื้นที่เก็บข้อมูลระบบคลาวด์ นอกจากนี้ยังมีบริการสำหรับสร้างไฟล์ประมวลผลคำ (Google docs) ไฟล์ตารางงาน (Google sheets) ไฟล์นำเสนอ (Google slides) แบบสอบถาม (Google forms) โดยเข้าใช้งานได้ที่ www.google.com/drive/ หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต

image009

รูปที่ 7 Google Drive

  • Google Sites บริการพื้นที่และเครื่องมือสำหรับการสร้างเว็บไซต์ เว็บไซต์ที่ได้มี URL คือ https://sites.google.com/site/ชื่อเว็บตามที่ตั้งไว้/  โดยสามารถใส่ข้อความ ภาพแล้ว และลิงค์เชื่อมโยงวิดีโอจาก YouTube และสร้างลิงค์สำหรับการดาวน์โหลดไฟล์ได้อีกด้วย ช่องทางสำหรับการสร้างเว็บคือ https://sites.google.com/

Google Sites

รูปที่ 8 Google Sites

  • Blogger บริการสร้างบล็อก (Blog) มีเครื่องมือพื้นฐานสำหรับการตกแต่งบล็อก เช่น การปรับแต่งข้อความ การใส่ภาพ ลิงค์ วิดีโอ เข้าใช้บริการได้ที่ www.blogger.com หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต

Blogger

รูปที่ 9 Blogger

  • YouTube ให้บริการพื้นที่สำหรับแบ่งปันวิดีโอ เช่นสื่อการสอน รายการโทรทัศน์ รีวิวอุปกรณ์ สาธิตการประกอบอาหาร ฯลฯ  เข้าใช้บริการได้ที่ www.youtube.com หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต

YouTube

รูปที่ 10 YouTube นำเสนอสื่อการสอนภาษาไพทอน

  • Google Translate บริการช่วยแปลภาษา มีทั้งคำอ่าน และเสียงอ่าน ทำให้เราฝึกออกเสียงได้ สามารถแปลได้ทั้งคำศัพท์ ประโยค และเว็บเพจ หากป้อนเป็นคำจะแปลความหมายพร้อมบอกชนิดของคำด้วย เข้าใช้บริการได้ที่ https://translate.google.com หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต

Google Translate

รูปที่ 11 การใช้ Google Translate แปลคำศัพท์

 

Google Translate รูปที่ 12 การใช้ Google Translate แปลเว็บ

  • Google Maps บริการค้นหาสถานที่ การนำทาง และข้อมูลเส้นทาง  ในบางพื้นที่สามารถใช้บริการ Street View เพื่อแสดงภาพพื้นที่จริงได้  ใช้บริการได้ที่ https://maps.google.com หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต


Google Maps

Street view

รูปที่ 13 Google Maps และ Street view

  • เครื่องมือแปลงหน่วยวัดค่า บริการแปลงหน่วยวัดค่าต่างๆ จากหน่วยหนึ่งไปเป็นอีกหน่วยเช่นอัตราแลกเปลี่ยนเงิน อุณหภูมิ ความยาว ปริมาตร 

 

การแปลงค่าเงิน

รูปที่ 14 การแปลงค่าเงิน

  • Calculator บริการเครื่องคิดเลขที่สามารถคำนวณค่าต่างๆ เช่น sin, cos, tan, log วิธีเข้าใช้บริการให้พิมพ์คำว่า “calculator”  ในช่องค้นหาบนเว็บไซต์กูเกิล ดังตัวอย่างในรูปที่ 10

google Calculator

รูปที่ 15 ตัวอย่างหน้าต่าง Calculator

  • Google Play บริการร้านค้าออนไลน์ ที่มีแอพลิเคชัน เพลง ภาพยนตร์และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งที่ให้ดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรีและเสียค่าใช้จ่าย ใช้บริการได้ที่ https://play.google.com หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต
  • Android ระบบปฏิบัติการที่ถูกสร้างเพื่อใช้งานบนสมาร์ทโฟน แทบเล็ต สมาร์ททีวี  
  • Google Chrome เว็บเบราว์เซอร์ใช้สำหรับเปิดเว็บเพจ สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมได้จาก www.google.com/chrome/

การใช้งานบางบริการของกูเกิลต้องลงชื่อเข้าใช้งาน (login) โดยใช้บัญชีผู้ใช้ Gmail หรือบัญชีผู้ใช้กูเกิล (Google Account) เนื่องจากกูเกิลมีระบบการจัดเก็บข้อมูลการใช้งานและจะทำการเชื่อมโยงข้อมูล(Synchronize) เมื่อเปิดใช้งานบริการต่างๆ ของกูเกิล เช่น ประวัติการเข้าชม คั่นหน้า (Bookmark) ปฏิทิน สมุดติดต่อ (Contact) [5]

ข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานของเราว้ทำให้กูเกิลสามารถแนะนำข้อมูลได้ใกล้เคียงความต้องการของเราได้มากขึ้นเรื่อยๆ และอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต เช่น การค้นหาสถานที่ เส้นทางการเดินทาง หรือแม้แต่วิธีเดินทาง การแจ้งเตือนนัดหมายต่างๆ และวันเกิด โดยใช้ข้อมูลจากปฏิทิน (Google calendar) มีการดึงเบอร์โทรศัพท์จากสมุดติดต่อ (Contact) ในโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android มาเก็บไว้ในสมุดติดต่อ (Contact) ของบัญชีผู้ใช้กูเกิล การเชื่อมโยงข้อมูลของกูเกิลจึงส่งผลให้ผู้ใช้มีความสะดวกสบายมากขึ้น

เมื่อมองอีกมุมหนึ่งก็เห็นถึงอันตรายหากบัญชีผู้ใช้กูเกิลถูกโจรกรรม นั่นหมายถึงข้อมูลส่วนตัวของเราอาจถูกนำไปใช้ในทางไม่ดี แม้กูเกิลจะให้มีการตรวจสอบ 2 ขั้นตอน (2-step Verification) เพื่อทำให้การลงชื่อเข้าใช้งานทำได้ปลอดภัยขึ้นโดยต้องระบุบัญชีผู้ใช้กูเกิลและรหัสผ่าน รวมทั้งส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือเพื่อตรวจสอบความเป็นเจ้าของ[6] อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ควรพิจารณาว่าจะเลือกใช้บริการใดและจะเชื่อมโยงข้อมูลกับบัญชีผู้ใช้กูเกิลหรือไม่ หากมีความจำเป็นต้องใช้ควรมีความรอบคอบ ระมัดระวังไม่ให้รหัสผ่านและโทรศัพท์มือถือตกไปอยู่ในมือของผู้อื่น

หมายเหตุ  อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมผลิตภัณฑ์ของกูเกิลได้ที่ http://www.google.com/about/products/

ยกร่างบทความโดย นางสาวชุลีพร สืบสิน  โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต จ.ภูเก็ต
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.

อ้างอิง

[1] Available: http://www.google.com (Access 20 January 2015).

[2] “ทำความรู้จักกับ Google+”. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก: http://www.google.com/+/learnmore/features.html (วันที่สืบค้น 21 มกราคม 2558).

[3] Available: http://www.google.com/+/learnmore/hangouts/ (Access 29 January 2015).

[4] “ทำไมจึงควรลงชื่อเข้าใช้ Chrome”. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก: https://support.google.com/chrome/answer/165139?hl=th (วันที่สืบค้น 21 มกราคม 2558).

[5] “About 2-Step Verification”. [Online]. Available: http://support.google.com/accounts/answer/180744?hl=en (Access 21 January 2015).