Skip to main content

Tag: วชิรพรรณ ทองวิจิตร

ขอแสดงความยินดีกับตัวแทนประเทศไทยในแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2560

ขอแสดงความยินดีกับตัวแทนประเทศไทยในแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2560 (IOI 2017) ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2560 ณ กรุงเตหะราน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน มีดังนี้
1. นายอรัญชย์ วงศ์พร้อมมูล โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้รับรางวัลเหรียญเงิน
2. นายภาสพล เสาวคนธ์ โรงเรียนเตรียมอุดม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง
3. นายภาวิน พร้องเผ่าพันธุ์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง
4. นายรุจธร ฉายรัตนอภิรมย์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง

อรัญชย์ วงศ์พร้อมมูล ภาสพล เสาวคนธ์ ภาวิน พร้องเผ่าพันธุ์ รุจธร ฉายรัตนอภิรมย์

จำนวนผู้เข้าแข่งขัน 308 คน จาก 84 ประเทศ

โดยมีคณะอาจารย์ผู้ควบคุมทีม ได้แก่

  • ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ สุรฤกษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • อาจารย์อรรถสิทธิ์ เมตตานันท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ดร.นิวรรณ วัฒนกิจรุ่งโรจน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • อาจารย์วชิรพรรณ ทองวิจิตร สสวท.

(จากซ้ายไปขวา) ดร.นิวรรณ วัฒนกิจรุ่งโรจน์  อาจารย์อรรถสิทธิ์ เมตตานันท  ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ สุรฤกษ์  ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล  อาจารย์วชิรพรรณ ทองวิจิตร

Internet of Things (IoT): เมื่อทุกสิ่งอิงกับอินเทอร์เน็ต

          ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก ไม่ว่าเราจะทำอะไร อยู่ที่ไหน สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรามักจะเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตอยู่เสมอ  จึงอาจเปรียบอินเทอร์เน็ตเป็นดังสายลมที่อยู่รอบๆ ตัวเรา แล้วเราล่ะ จะเตรียมรับมือกับมันได้อย่างไร ถ้าหากเรานิ่งเฉย ไม่สนใจจะใช้ประโยชน์จากมัน เราอาจจะพลาดความสะดวกสบายบางอย่างในชีวิตไป หน้าที่ของเราคือ ทำความเข้าใจว่าเราจะใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและผู้อื่น 

          Internet of Things [1] คือ สภาพแวดล้อมที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆ มีการถ่ายโอนข้อมูลร่วมกันผ่านเครือข่าย โดยไม่จำเป็นต้องใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับคอมพิวเตอร์  ซึ่ง Internet of Things พัฒนามาจากเทคโนโลยีไร้สาย (wireless technology) ระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค (micro-electromechanical systems : MEMS) และอินเทอร์เน็ต ซึ่งคำว่า Things ใน Internet of Things นั้น หมายถึง อุปกรณ์ต่างๆ ที่อ้างอิงได้ด้วยเลขไอพี (IP address) และมีความสามารถในการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างกันได้ผ่านเครือข่าย สรุปให้เข้าใจง่ายๆ Internet of Things ก็คือ เทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นั่นเอง

          เราก็ได้ทราบนิยามของ Internet of Things กันไปแล้ว เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นเรามาดูตัวอย่างอุปกรณ์ธรรมดาๆ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน แต่เมื่อมี Internet of Things เข้ามาแล้ว มันจะไม่ธรรมดาอีกต่อไป เช่น

ตู้เย็นอัจฉริยะ มีตัวตรวจจับจำนวนสิ่งของต่างๆ ในตู้ เมื่ออาหารในตู้เย็นใกล้จะหมดอายุหรือสิ่งใดหมด จะมีข้อความแจ้งเตือนไปยังสมาร์ทโฟนให้เราสั่งซื้อของได้

image001 image002
รูปที่ 1  ตู้เย็นอัจฉริยะ [2]

เครื่องซักผ้าอัจฉริยะ เครื่องซักผ้าสามารถรายงานสถานการณ์ทำงานของเครื่องไปยังสมาร์ทโฟนได้ กรณีที่เราใช้เครื่องซักผ้าในขณะที่เราไม่อยู่บ้าน สามารถตั้งค่าเครื่องซักผ้าในโหมดพิเศษโดยเมื่อเครื่องซักผ้าเสร็จแล้วเครื่องจะปั่นผ้าเบาๆ ทุกสองนาที เพื่อให้มีอากาศไหลผ่าน ช่วยให้ผ้าไม่อับชื้น และเมื่อเรากลับถึงบ้าน เครื่องซักผ้าจะตรวจจับได้ว่าเรากลับบ้านแล้ว เครื่องซักผ้าจะจบการทำงานและแจ้งเตือน [3]

image003image004
รูปที่ 2 เครื่องซักผ้าอัจฉริยะ

นาฬิกาอัจฉริยะ มีความสามารถมากกว่าใช้ดูเวลาเท่านั้น เช่น ถ่ายรูป บันทึกวิดีโอ รับ-ส่งอีเมล จับเวลา นับก้าวเดิน คำนวณระยะและพลังงานที่ร่างกายใช้นอกจากนี้ยังใช้เป็นรีโมตคอนโทรลของโทรทัศน์ ได้อีกด้วย[4]

image005 image006 image007
รูปที่ 3 นาฬิกาอัจฉริยะ

            นอกจากอุปกรณ์เหล่านี้[5] ก็ยังมีการใช้งานในรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น การจอดรถในห้างสรรพสินค้าที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับที่ว่างแล้วแสดงผลให้ลูกค้าทราบ ในทางการแพทย์ใช้ในการวิเคราะห์ ตรวจสอบอาการของคนไข้ผ่านอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ที่บ้านของคนไข้ จากผลสำรวจแนวทางการนำ Internet of Things[6] ไปใช้โดยสำรวจจากการค้นหาใน Google การแชร์ผ่าน Twitter และ Linkedin ดังรูปที่ 4 หัวข้อที่พบมากที่สุดคือ Smart Home หรือ ระบบบ้านอัจฉริยะ สำหรับในประเทศไทยนั้น หัวข้อที่น่าจะใกล้ตัวเรามากที่สุด ก็คงจะเป็น Wearable  ซึ่งเป็นกลุ่มอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับสวมใส่บนร่างกาย เช่นนาฬิกาอัจฉริยะ นั่นเอง   


รูปที่ 4 ผลสำรวจการประยุกต์ใช้งาน Internet of Things ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด

          จะเห็นได้ว่า สมัยนี้อะไรๆ ก็เป็น Smart ทั้งนั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการนำ Internet of Things มาใช้กับสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา แล้วถ้าเรานำคำว่า “Smart” มานำหน้าคำว่า “School” บ้างล่ะ ก็จะเป็น “Smart School” หรือโรงเรียนอัจฉริยะ แล้วโรงเรียนแบบนี้จะมีลักษณะพิเศษอย่างไร จะสามารถนำแนวคิดของ Internet of Things มาใช้ในโรงเรียนได้อย่างไรบ้าง

           การนำ Internet of Things มาใช้ในโรงเรียนนั้น ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันกับเทคโนโลยีคลาวด์ (cloud technology) และ อาร์เอฟไอดี(radio frequency identification:RFID) ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการในโรงเรียน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน [7] ดังนี้

image009
รูปที่ 5 การใช้งาน Mobile Learning ในโรงเรียน [8]      

  1. การจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองทุกที่ทุกเวลาด้วยระบบ Mobile Learning ผู้เรียนสามารถเข้าถึงบทเรียนได้ผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต เพื่อศึกษาเนื้อหาและอ่านทบทวนสร้างความเข้าใจของตนเองได้ตามที่ต้องการในด้านการทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนมอบหมาย ระบบจะมีการบันทึกคะแนนของผู้เรียนจากการทำกิจกรรมหรือแบบฝึกหัดต่างๆ ผ่านระบบคลาวด์ ช่วยลดภาระของผู้สอนในการประเมินผู้เรียนและอำนวยความสะดวกในการเตรียมเอกสารประกอบการเรียน ทั้งนี้ยังสามารถใช้สื่อสังคมออนไลน์มาช่วยในการอภิปรายแสดงความคิดเห็นหรือแบ่งปันข้อมูลได้อีกด้วย ซึ่งโรงเรียนจะต้องให้ความสำคัญเรื่องความเร็วและความปลอดภัยในการเข้าถึงระบบเครือข่ายของโรงเรียน
  2. การดำเนินงาน ให้ติดแท็ก RFID ในอุปกรณ์และทรัพยากรต่างๆ เช่น เครื่องฉายภาพ (projectors) จะช่วยให้ง่ายต่อการติดตาม ลดปัญหาอุปกรณ์สูญหาย ช่วยในการวางแผนจัดการ และตรวจสอบได้อย่างทันทีทันใด เมื่ออุปกรณ์ชิ้นใดชำรุดสามารถแจ้งซ่อมทันทีได้ผ่านสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ยังช่วยลดเวลาในการตรวจสอบว่านักเรียนมาเรียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมครบหรือไม่     ด้วยการติดแท็ก RFID ที่กระเป๋านักเรียน เมื่อนักเรียนเดินผ่านเครื่องสแกนก็จะเป็นการเช็คชื่อโดยอัตโนมัติ[9]

image010
รูปที่ 6 แท็ก RFID

  1. การรักษาความปลอดภัย โดยติดตั้งระบบ GPS (Global Positioning System)  กับรถโรงเรียนจะมีการแจ้งเตือนมายังสมาร์ทโฟนของผู้ปกครอง เมื่อรถโรงเรียนเดินทางมาใกล้จะถึงบ้านของนักเรียนแล้ว จะมีการแจ้งเตือนมายังสมาร์ทโฟน เพื่อให้เตรียมตัวขึ้นรถ  เมื่อนักเรียนขึ้นรถแล้ว ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบได้ว่าตอนนี้บุตรหลานของท่านอยู่ที่ใด นอกจากนี้ยังมีการใช้ ID Card หรือสายรัดข้อมือ  ในการตรวจสอบผู้ที่เข้ามาในเขตโรงเรียนเพื่อป้องกันคนแปลกปลอมเข้ามาในเขตโรงเรียน และยังใช้แทนเงินสดสำหรับซื้อของในโรงเรียนได้อีกด้วย[10]

image011 
รูปที่ 7 ตัวอย่าง ID Card นักเรียน     

            จะเห็นได้ว่า Internet of Things มีประโยชน์ในหลายๆด้าน ช่วยอำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนบางอย่างในชีวิตประจำวันของเราได้  ในอนาคตเราจะสามารถควบคุมการทำงานของสิ่งของทุกๆ อย่างรอบตัวได้ง่ายๆ ผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต เรียกได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในกำมือเลยก็ว่าได้ แต่สิ่งที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือความปลอดภัยในการใช้งาน ถ้าหากมิจฉาชีพเข้าถึงระบบควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ได้ ก็อาจสร้างความเสียหายต่อเราเป็นอย่างมาก ดังนั้นเราจึงต้องเข้าใจวิธีการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างปลอดภัย

             เรื่องพื้นฐานที่ควรคำนึงถึงก็คือ การตั้งรหัสผ่านให้มีความปลอดภัยสูง คาดเดายาก โดยสามารถตรวจสอบได้ว่ารหัสผ่านที่เราใช้อยู่นั้นสามารถคาดเดาได้ง่ายหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ https://howsecureismy password.net/  ถ้าพบว่ารหัสผ่านที่ใช้อยู่เป็นรหัสที่สามารถคาดเดาได้ก็คงถึงเวลาเปลี่ยน ซึ่งควรจะตั้งรหัสผ่านให้มีความยาวพอสมควรและเป็นรหัสที่สามารถจดจำได้ง่าย สามารถศึกษารายละเอียดการตั้งรหัสผ่านอย่างปลอดภัยได้ที่บทความเรื่อง การตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัย [11] นอกจากนี้ ควรจะตั้งค่าความปลอดภัยของระบบด้วย เช่น การกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึง การกำหนดจำนวนครั้งในการใส่รหัสผิด เพียงเท่านี้เราก็สามารถนำ Internet of Things มาช่วยอำนวยความสะดวกและใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย

 

ยกร่างบทความโดย นางสาววชิรพรรณ ทองวิจิตร
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาวิชาเทคโนโลยี สสวท.

อ้างอิง

  1. Margaret Rouse. Internet of Things (IoT) definition. [Online],
        Available: http://internetofthingsagenda.techtarget.com/definition/Internet-of-Things-IoT  [2016, Jan 25]
     
  2. Rich Brown. 2016. Touchscreen refrigerators and talking everything at CES 2016.[Online],
        Available: http://www.cnet.com/news/touchscreen-refrigerators-and-talking-everything-at-ces-2016/
                       [2016, Jan 26]
     
  3. How – to greek. 2015. What is a “Smart Washer”, and Do I Need One? [Online],
        Available: http://www.howtogeek.com/236286/what-is-a-smart-washer-and-do-i-Need-one/ [2016, Jan 25]
     
  4. Samsung. 2014. Gear 2. [Online],
        Available: http://www.samsung.com/th/consumer/mobile-devices/wearables/gear/SM-R3800VSATHO
                       [2016, Jan 26]
     
  5. ศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. The Internet of Things. [ออนไลน์],
        เข้าถึงจาก :http://its.sut.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=72&Itemid=468
                       [2559, มกราคม 26]
     
  6. IOT Analytics. 2015. The 10 most popular Internet of Things applications right now. [Online],
        Available: http://iot-analytics.com/10-internet-of-things-applications/ [2016, Jan 26]
     
  7. Zebra Technologies. How the Internet of Things Is Transforming Education. [Online],
        Available: http://www.zatar.com/sites/default/files/content/resources/Zebra_Education-Profile.pdf [2016, Jan 26]
     
  8. Thor Prichard. Envisioning the Future of Mobile Learning. [Online],
        Available: https://www.clarity-innovations.com/blog/tprichard/envisioning-future-mobile-learning [2016, Jan 27]
     
  9. Jonathan Bloom. 2015. Q&A: Scanning Away Food Waste? [Online],
        Available: http://www.wastedfood.com/2015/09/15/qa-scanning-away-food-waste/ [2016, Jan 27]
     
  10. Smart Tech Production. Student ID. [Online],
         Available: http://smarttech.com.hk/d/student-id [2016, Jan 27]
     
  11. พนมยงค์ แก้วประชุม. 2557. การตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัย. [ออนไลน์], 
         เข้าถึงจาก : http://oho.ipst.ac.th/secure-password/ [2559, มกราคม 27]