Skip to main content

Tag: พรพจน์ พุฒวันเพ็ญ

แว่นวีอาร์ สื่อเรียนรู้เสมือนจริงแห่งอนาคต (VR:Virtual Reality)

      เมื่อหลายวันก่อนมีโอกาสได้ลองใช้ แว่นชนิดหนึ่ง ที่ร้านค้านำมาจัดแสดงในงานแสดงสินค้า ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ตัวแว่นทำมาจากกระดาษและราคาไม่แพง เมื่อทดลองสวมแว่น ก็รู้สึกตื่นเต้นกับภาพที่ได้เห็นเป็นอย่างมาก ภาพช่างดูสมจริงราวกับว่ากำลังอยู่ในเหตุการณ์นั้น จึงทำให้เริ่มสนใจและศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมจนทราบว่า ในปี ค.ศ. 2014      กูเกิลได้พัฒนาต้นแบบกล้องที่สร้างขึ้นจากกระดาษแข็งมีลักษณะคล้ายกล้องสองตา

binoculars-354623_1920
รูปที่ 1 กล้องสองตา

     เรียกว่า Google Cardboard เมื่อนำโทรศัพท์มาติดตั้งที่ด้านหน้ากล้องแล้วมองผ่านช่องมองภาพจะเห็นภาพในลักษณะสามมิติเสมือนจริง จากนั้นมีบริษัทต่างๆ พัฒนาตามออกมาอีกหลายรุ่นหลายแบบในลักษณะของแว่นสวมใส่โดยใช้ชื่อว่า แว่นวีอาร์ (VR Glasses: Virtual reality Glasses)

image04
รูปที่ 2 Google Cardboard

     หลักการทำงานของแว่นวีอาร์คล้ายกับเครื่องมองภาพสามมิติ (Stereoscope) ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ในการดูภาพภูมิประเทศที่เป็นสามมิติ

image01
รูปที่ 3 เครื่องมองภาพสามมิติ (Stereoscope)

     เมื่อนำหลักการทำงานของกล้องสามมิติรวมเข้ากับความสามารถในการแสดงผลที่มีความละเอียดสูงและมีประสิทธิภาพ ทำให้ได้อุปกรณ์แสดงผลแบบสามมิติที่สมจริงโดยมีหลักการทำงานดังนี้

     เริ่มจากการสร้างภาพนิ่งหรือเคลื่อนไหวเป็นสองมิติแบบคู่โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือ การสร้างภาพให้เกิดการรับรู้ทางลึกในสมองโดยให้ตาของผู้สวมใส่แว่นเห็นภาพต่างกันที่มิติเดียวกัน โดยสร้างความเหลื่อมเพียงเล็กน้อยระหว่างภาพที่มองด้วยตาซ้ายและตาขวาผ่านเลนส์ที่ช่วยขยายภาพให้ใหญ่และปรับให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือ การที่เห็นภาพ 2 ภาพต่างกัน แต่ให้เห็นเป็นภาพเดียวกันด้วยการมองแบบธรรมชาติ ต้องตั้งระยะการมองให้ห่างกันอย่างพอเหมาะ ไม่ให้เห็นเป็นภาพเบลอเพื่อป้องกันการล้าของดวงตา

image00
รูปที่ 4 หลักการมองภาพของแว่น VR

     ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การสร้างภาพสามมิติจึงไม่ใช้เรื่องยากอีกต่อไป ในสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ มีผู้พัฒนาแอปพลิเคชันช่วยในการถ่ายภาพแบบสามมิติอยู่จำนวนมากให้เลือกใช้งานแล้วก็ยังมีแอปพลิเคชันที่แสดงภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวแบบสามมิติ เช่น Cardboard camera ของ google ใช้สาธิตภาพสามมิติ หรือ VR Cinema ของ Mobius Networks ที่สามารถแสดงให้เห็นภาพสามมิติได้แบบทันทีทันใดและเพื่อการรับชมที่เสมือนจริงมากขึ้น

image02
รูปที่ 5 แว่น VR

     นอกจากนี้ยังมีการผสมผสานเพิ่มเติมให้กับระบบประสาทสัมผัสอื่นด้วยประกอบกันไป  เช่นเสียงประกอบการรับชมที่สมจริงผ่านลำโพงหรือหูฟัง ทำให้ผู้สวมใส่แว่นวีอาร์รู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การทหาร การแพทย์ เกมเสมือนจริง รวมไปถึงแนวคิดใหม่ๆ ในการนำไปใช้งานในอนาคต

image03
รูปที่ 6 ภาพที่แสดงในแว่น VR

     ปัจจุบัน กูเกิลได้เปิดตัวโครงการ Expeditions ซึ่งเป็นโครงการวีอาร์เพื่อการศึกษา จุดประสงค์เพื่อให้เด็กๆ ได้มีโอกาสได้ท่องโลกกว้างผ่าน Google Cardboard ซึ่งสามารถใช้ได้กับแว่นวีอาร์ค่ายอื่นๆ ด้วย โดยเริ่มทดสอบในเดือนกันยายน ค.ศ. 2015 ที่ผ่านมา ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา เดนมาร์ก และ สิงคโปร์ โดยใช้ Google  Cardboard ร่วมกับสมาร์ทโฟน เพื่อทดลองสื่อสำหรับสนับสนุนการเรียนการสอนในอนาคต ผู้สนใจ สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติ่มได้ที่ Google for Education ในชื่อโครงการ Expeditions หรือลงทะเบียนได้ที่ https://www.google.com/edu/expeditions/

     สำหรับการศึกษาในประเทศไทย ยังมีความรู้อีกหลายอย่างที่เราไม่สามารถพาผู้เรียนไปศึกษาเรียนรู้ในสถานที่หรือเหตุการณ์จริงได้ ซึ่งอาจเป็นสถานที่อันตราย อยู่ห่างไกล หรือไม่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น แหล่งที่อยู่ของไดโนเสาร์ ดวงดาวในจักรวาล การระเบิดของภูเขาไฟ แว่นวีอาร์จะเป็นสื่อเรียนรู้แบบใหม่ที่จะพาผู้เรียนเข้าไปสัมผัสกับเหตุการณ์เหล่านั้นเหมือนได้อยู่ในเหตุการณ์จริง ทำให้เรียนรู้และทำความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งมากกว่าการเปิดดูภาพในตำราหรือดูภาพสองมิติเพียงอย่างเดียว

ยกร่างบทความโดย นายพรพจน์ พุฒวันเพ็ญ
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาวิชาเทคโนโลยี สสวท.

 

อ้างอิง

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Stereoscope
  2. https://www.google.com/get/cardboard/
  3. https://www.google.com/edu/expeditions/

บ้างาน ระวังโรคออฟฟิศซินโดรมจะถามหา

เขียนโดย นายพรพจน์ พุฒวันเพ็ญ ผู้อำนวยการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.  

      

“โอ้ยปวดหลัง” เสียงบ่นของคนทำงานออฟฟิศที่เราได้ยินกันจนคุ้นหู ทำไมจะไม่ปวดล่ะ ก็นั่งทำงาน ใช้คอมพิวเตอร์กันทั้งวัน วันละหลายชั่วโมง ไม่ได้ลุก ไม่ได้ขยับตัวไปไหนเลย  เบาหน่อยก็มีอาการปวด ตึง  บริเวณคอ หลัง บ่า และ ไหล่ พอนานไป  ก็ปวดจนขยับตัวลำบาก และอาจจะมีอาการเวียนหัวร่วมด้วย

 

5-1

 

     ถ้ารู้ตัวว่าเริ่มมีอาการควรรีบไปปรึกษาหมอให้ช่วยหาวิธีรักษาเสียแต่เนิ่นๆ อาจจะด้วยวิธีนวดคลายกล้ามเนื้อ หรือถึงขึ้นต้องใช้ยา เพราะอาการเหล่านี้ถ้าปล่อยให้เกิดกับร่างกายเรานานๆ เข้า จะยิ่งรักษายาก  หรือไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตประจำวัน    

สาเหตุของปัญหา

      อาการปวดเมื่อยตามร่างกายของคนทำงานออฟฟิศ มีชื่อเรียกว่า “โรคออฟฟิศซินโดรม” หรือบางคนเรียกว่า ”โรคบ้างาน”  ส่วนใหญ่เกิดกับคนทำงานรวมถึงคนที่ติดเกมหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องหลายชั่วโมงโดยไม่หยุดพักหรือพักในช่วงสั้นๆ แล้วก็รีบกลับมานั่งทำงานท่าเดิม บางคนถึงขั้น กินอยู่ หลับนอนอยู่กับโต๊ะทำงาน พอทำงานหนักขึ้นนานขึ้นกล้ามเนื้อไม่ได้พักผ่อน ไม่ได้ออกกำลังกาย รวมถึงท่าทางในการนั่งทำงานและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมในการทำงานเช่น โต๊ะ เก้าอี้ สูงหรือเตี้ยไป จอคอมพิวเตอร์วางสูงหรือต่ำกว่าระดับสายตา  ห้องทำงานแคบ อยู่กันอย่างแออัด เรื่องเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม ได้ทั้งสิ้นซึ่งเป็นอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

 อาการของโรค

          อาการจะเริ่มตั้งแต่ ปวดเมื่อย คอ ไหล่  ไล่มาถึงบ่าแล้วลงไปที่หลัง ปวดตึงแขนขา จนอาจถึงขั้นก้ม เงย หันคอไม่ได้เลย เหมือนคนที่นอนตกหมอน หนักเข้าก็ปวดหัว เวียนหัว ทำงานไม่ไหว ยังรวมถึงอาการข้างเคียงอื่นๆ  ถ้ารู้สึกว่าเริ่มมีอาการเหล่านี้อาจใช้วิธีนวดคลายกล้ามเนื้อเพื่อให้อาการทุเลาลง  แต่ถ้าเป็นมากๆ ควรไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางจะดีที่สุด บางคนอาจมีอาการปวดไปทั่วร่างกายรวมถึงมีอาการปวดหัวร่วมด้วยซึ่งเกิดมาจากความเครียดสะสม ถ้าปล่อยไว้นานเข้าอาจจะเจอกับภัยเงียบที่อาจจะเกิดตามมาได้ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เพราะรีบเร่งทำงานอั้นไว้ไม่ยอมไปเข้าห้องน้ำ โรคเครียด ความดัน โรคอ้วน กรดไหลย้อน

 

การป้องกันเบื้องต้น

       อย่างที่สุภาษิตเขาว่า วัวหายแล้วล้อมคอก  เจ็บแล้วคอยมารักษาคงไม่ทัน  จริงๆ แล้วเราสามารถลดหรือป้องการอาการเหล่านี้ได้ด้วยการปรับปรุงพฤติกรรม สภาพการทำงานต่างๆ ให้เหมาะซึ่งจะช่วยลดการเกิดอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมลงได้ดังนี้

1.    จัดวางท่าทางให้เหมาะสม

5-2

       เรามักนั่งทำงานในท่าทางที่เราคุ้นเคย เช่นนั่งหลังงอ โต๊ะทำงานก็สูงจนต้องยกมือและไหล่ขึ้นสูงเพื่อใช้งานแป้นพิมพ์  เนื่องจากมักจะใช้โต๊ะเขียนหนังสือมาเป็นโต๊ะวางคอมพิวเตอร์ ยิ่งถ้าใครใช้คอมพิวเตอร์พกพา เวลาวางคอมพิวเตอร์ลงบนโต๊ะจะทำให้จอภาพอยู่ต่ำกว่าระดับสายตา มองจอแต่ทีก็ต้องก้มหน้า โน้มคอ งอหลัง ไปมองจอภาพ  ถ้าทำงานอยู่ในท่านี้เป็นเวลานานๆ ก็จะเริ่มมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดแขน บางคนปวดลงถึงต้นขา ปวดน่อง เพราะขาก็วางไม่ถึงพื้นอาจเนื่องมาจากเก้าอี้สูงเกินไป

5-3

    วิธีแก้ไขง่ายๆ คือปรับทุกอย่างให้อยู่ในตำแหน่งและท่าทางที่ถูกต้อง เริ่มด้วยการปรับพนักพิงให้ตรง นั่งให้ตัวตรง เลื่อนเก้าอี้ให้เข้าใกล้โต๊ะมากขึ้น มือจะได้อยู่ใกล้แป้นพิมพ์ไม่ต้องเอื้อม  ถ้าขาเหยียบไม่ถึงพื้นก็หาอะไรมารองให้วางเท้าได้ถนัดขึ้น ต้นขา และน่องจะได้ไม่ปวดเมื่อย ปรับจอภาพให้อยู่ในระดับสายตา จะได้ไม่ต้องก้มหน้าทั้งวัน ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์พกพา ก็หาอะไรก็ได้มาหนุนให้สูงขึ้นจะได้มองจอได้ถนัด แล้วหาแป้นพิมพ์ ภายนอกมาใช้แทนแป้นพิมพ์ที่ติดมากับเครื่อง

2.    การจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม

     หลังจากจัดท่าทางการนั่งทำงานแล้ว ในที่นี้เราก็ต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำงานด้วย ซึ่งสภาพของสถานที่ทำงานก็มีผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ปฏิบัติงานได้เหมือนกัน เช่นการจัดสภาพแสง ควรจัดวางตำแหน่งนั่งทำงานให้ได้รับแสงจากธรรมชาติมากกว่าแสงไฟในห้องทำงาน หรือควรหาที่นั่งติดหน้าต่างได้ยิ่งดี จะได้พักสายตาโดยการมองออกไปนอกหน้าต่างเป็นครั้งคราว ซึ่งจะช่วยให้จะลดอาการเมื่อยล้าของสายตาลงได้ และควรเตือนตัวเองให้ลุกออกมาจากโต๊ะทำงาน ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ควรพักสัก 10 นาที  เพื่อขยับร่ายกาย ขยับแขน ขยับขา   ปรับสภาพห้องทำงาน ด้วยการเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทบ้าง  หาต้นไม้ขนาดเล็กที่เจริญเติบโตได้ในร่ม มาปลูกเพื่อช่วย ฟอกอากาศ ช่วยกรองสารพิษ และยังใช้เป็นที่พักสายตาจากหน้าจอได้เป็นอย่างดี

5-4
     ถ้าทุกคนปฏิบัติได้ตามนี้ อาการปวดตามร่างกายก็จะหายไป หรืออย่างน้อยก็บรรเทาลง คนที่ยังไม่เคยเป็น ก็สามารถนำไปปฏิบัติตามได้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ไห้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามถึงจะจัดวางท่าทางในการนั่งและสภาพแวดล้อมดีเพียงใด ถ้าหากยังหักโหมทำงานหนักจนไม่ยอมพักผ่อน อาการเจ็บปวดก็ยังอาจกิดขึ้นได้ ดังนั้นควรแบ่งเวลาทำงานกับเวลาพักผ่อนให้เหมาะสม หรือแม้แต่ระหว่างทำงานก็ควรจะมีการพักเป็นระยะ เช่น พักห้าถึงสิบนาทีทุกครึ่งชั่วโมงแล้วก็กลับมาทำงานต่อ แต่ไม่ใช่ แบ่งเวลาให้กับการพักมากกว่าเวลาทำงานล่ะ เดี๋ยวเจ้านายจะไล่ออกจากงาน แล้วทีนี้ จะมานั่งปวดใจในภายหลัง จะหาว่าไม่เตือน…

หุ่นยนต์บังคับมือจากของเล่นกลายเป็นสื่อเรียนรู้

เขียนโดย นายพรพจน์ พุฒวันเพ็ญ ผู้อำนวยการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.   

  ในวัยเด็กหลายๆ คนคงมีความสุขสนุกสนานกับการได้เล่นของนานาชนิด หลายชิ้นก็เล่นจนติด เล่นได้ทั้งวัน ของเล่นยอดฮิตตลอดกาลของเด็กชายชิ้นหนึ่งคือ รถบังคับแบบใช้สาย  กดเดินหน้า กดถอยหลัง กดให้วิ่งไปทางซ้าย ไปทางขวา แค่เห็นรถวิ่งไปมาได้ก็มีความสุข สนุกสนานแล้ว ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าเล่นแล้วจะได้อะไร แค่สนุกก็พอแล้ว

4.1

 

รถบังคับทำงานอย่างไร     

               ส่วนประกอบของรถบังคับแบบใช้สายก็ไม่มีอะไรมาก มีแค่ มอเตอร์ ฟันเฟืองทดรอบ แบตเตอรี่ ล้อ ปุ่มกดสำหรับบังคับ เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา  ทั้งหมดประกอบเข้าด้วยกัน โดยอาศัยหลักการทางไฟฟ้าอย่างง่าย ไม่ซับซ้อน

4-2

    จากรูป เมื่อกดสวิตช์ตัวบน มอเตอร์ตัวบนจะหมุน เมื่อกดสวิตช์ตัวล่างมอเตอร์ตัวล่างจะหมุน ถ้ากดสวิตช์สองตัวพร้อมกันมอเตอร์ก็จะหมุนพร้อมกัน แต่หมุนในทิศทางที่ตรงข้ามกัน ด้วยหลักการดังกล่าว เราก็สามารถสร้างรถบังคับแบบใช้สายอย่างง่ายได้แล้ว

 

เปลี่ยนรถบังคับให้เป็นหุ่นยนต์

    หุ่นยนต์ หรือ โรบอท (robot) คือเครื่องจักรกลชนิดหนึ่ง มีลักษณะโครงสร้างและรูปร่างแตกต่างกัน หุ่นยนต์ในแต่ละประเภทจะมีหน้าที่การทำงานในด้านต่าง ๆ ตามการควบคุมโดยตรงของมนุษย์ การควบคุมระบบต่างๆ ในการสั่งงานระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์ สามารถทำได้โดยมนุษย์เป็นผู้ควบคุมและทำงานแบบอัตโนมัติ โดยทั่วไปหุ่นยนต์ถูกสร้างขึ้นสำหรับงานที่มีความยากลำบากแทนมนุษย์ จากคำนิยามเราสามารถกดสวิตช์ให้รถเดินหน้า เลี้ยวซ้าย ขวา เพื่อให้ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เราต้องการได้เช่นกัน ดังนั้นจากความหมายข้างต้น ถ้ากำหนดงานที่ชัดเจนให้กับรถบังคับ เราก็สามารถเรียกได้ว่ารถบังคับก็ทำหน้าที่เป็นหุ่นยนต์ ประเภทหนึ่งได้เหมือนกัน

 

วงจรหุ่นยนต์บังคับมืออย่างง่าย

     จากวงจรไฟฟ้าอย่างง่ายของรถบังคับแบบใช้สาย เราสามารถปรับปรุงเพิ่มเติมวงจรไฟฟ้าอีกเล็กน้อย ก็จะได้ วงจรหุ่นยนต์บังคับมือที่มีความสามารถเพิ่มขึ้น บังคับให้เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา  รวมถึงถอยหลังและเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาได้คล่องตัว และรองรับการควบคุมได้ดีขึ้น
4-3

ข้อควรระวัง เนื่องจากวงจรออกแบบให้ประกอบได้ง่ายจึงไม่มีระบบป้องกันการลัดวงจร ระหว่างควบคุมควรระวังอย่ากดปุ่มพร้อมกันมากกว่า 2 ปุ่ม จะทำให้เกิดการลัดวงจรขึ้นได้  จะทำให้แบตเตอรี่ร้อนและอายุการใช้งานสั้นลง

 

ส่วนควบคุม จะประกอบไปด้วยแบตเตอรี่ และสวิตช์ควบคุม

ส่วนขับเคลี่อน จะมีเพียงมอเตอร์ที่ทดรอบให้มีความเร็วต่ำเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม ทั้งสองส่วนจะเชื่อมโยงถึงกันด้วยสายไฟขนาดเล็กจำนวน 3 เส้น และควรมีความยาวอย่างน้อย 2 เมตร

 

หุ่นยนต์ต้องมีหน้าที่

          รถบังคับจะเป็นหุ่นยนต์ได้จะต้องมีการกำหนดภาระกิจหน้าที่ให้ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นเพื่อให้เป็นหุ่นยนต์บังคับมือที่สมบูรณ์ จำเป็นต้องมีการพัฒนาต่อเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นถ้าต้องการหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการเคลื่อนย้ายสิ่งของจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง โดยที่สิ่งของที่หุ่นยนต์จะต้องเคลื่อนย้ายมีรูปทรงกระบอก

4-4

      ถึงตอนนี้ผู้พัฒนาหุ่นยนต์จะต้องวิเคราะห์งานที่ได้รับมอบหมายและออกแบบโครงสร้างของหุ่นยนต์ให้เหมาะสมกับงานที่ได้รับ ซึ่งอาจจะมี มือคีบจับยึดสิ่งของ หรือตะขอเกี่ยว  แล้วแต่การออกแบบ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา

 

จะให้สนุกต้องแข่งขัน

         การแข่งขันเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนุกสนานในการเรียน ตัวอย่างกติกาการแข่งขันเช่น กำหนดให้หุ่นยนต์เคลื่อนย้ายสิ่งของให้ได้มากที่สุดในเวลาที่กำหนด หรือให้เคลื่อนย้ายสิ่งของจากพื้นที่ของทีมตรงข้ามมาไว้ในพื้นที่ของตนให้ได้มากที่สุดในเวลาที่กำหนด  เมื่อมีการแข่ง ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันจะทราบกติกา เห็นสนาม เห็นสิ่งของที่เป็นภาระกิจ ทีมก็จะต้องวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ ให้เหมาะกับกติกาและวางแผนการแข่งเพื่อนำไปสู่ชัยชนะต่อไป

4-54-6

  

          จากภาพเมื่อทุกคนทราบกติกาการแข่งขัน แต่ละทีมเริ่มวิเคราะห์ปัญหา สิ่งที่หุ่นยนต์ที่ต้องทำ  แบ่งหน้าที่ของผู้ร่วมทีม  วางแผนการเล่น รวมไปถึงการเลือกวัสดุที่เหมาะสมมาใช้ในการพัฒนาหุ่นยนต์ ชึ่งอาจเป็นวัสดุเหลือใช้ทั่วไป และสุดท้ายต้องสามารถนำเสนอแนวคิดในการออกแบบหุ่นยนต์ได้

 

เล่นไปแล้วได้อะไร

      ถึงตอนนี้อาจจะมีคนสังสัยว่าเล่นแบบนี้แล้วจะได้อะไร ที่จริงแล้วตลอดกิจกรรมตั้งแต่ต้นจนจบ ต้องผ่านกิจกรรมย่อยๆ หลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการประกอบหุ่นยนต์ขึ้นจากวงจรไฟฟ้าอย่างง่ายๆ ที่เรียนกันอยู่ในชั้นเรียน กิจกรรมนี้จะทำให้รู้และเข้าใจถึงการนำความรู้เรื่องของวงจรไฟฟ้ามาใช้ในการสร้างงานหรือเพื่อแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง จากนั้นเมื่อได้รับภาระกิจก็จะต้องพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีความสามารถในการที่จะทำภาระกิจนั้นให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งต้องใช้ทั้งความคิดสร้างสรรค์ การวางแผน การทำงานเป็นทีม การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ การเลือกวัสดุที่เหมาะสมรวมไปถึงการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยเลือกที่จะนำวัสดุเหลือใช้มาเป็นส่วนประกอบในการพัฒนาหุ่นยนต์  ก่อนการแข่งขันทุกทีมได้มีการทดสอบการทำงานหุ่นยนต์ของตนเพื่อหาข้อบกพร่องและทำการแก้ไขจนพร้อมทำงานได้ตามที่ได้ออกแบบไว้ ช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำงานเป็นระบบ ที่สำคัญทุกทีมควรนำเสนอแนวคิดในการพัฒนาหุ่นยนต์ให้ทีมอื่นๆได้ทราบเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  การทำงานเป็นทีม การวางแผนที่ดี จะทำให้หุ่นยนต์และทีมสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ประสบความสำเร็จ

      สุดท้ายจะเห็นได้ว่า จากของเล่นที่เราเล่นกันอย่างสนุกสนานในวัยเด็ก ก็สามารถนำมาเป็นสื่อช่วยในการเรียนการสอน ซึ่งจะช่วยให้พัฒนาทักษะในหลายๆ ด้าน อีกทั้งยังทำให้รู้จักนำความรู้ในชั้นเรียนมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ โดยเริ่มจาก ของเล่น วงจรไฟฟ้าอย่างง่าย และการนำความรู้มาใช้แก้ปัญหาให้เหมาะสมกับงาน