“โอ้ยปวดหลัง” เสียงบ่นของคนทำงานออฟฟิศที่เราได้ยินกันจนคุ้นหู ทำไมจะไม่ปวดล่ะ ก็นั่งทำงาน ใช้คอมพิวเตอร์กันทั้งวัน วันละหลายชั่วโมง ไม่ได้ลุก ไม่ได้ขยับตัวไปไหนเลย เบาหน่อยก็มีอาการปวด ตึง บริเวณคอ หลัง บ่า และ ไหล่ พอนานไป ก็ปวดจนขยับตัวลำบาก และอาจจะมีอาการเวียนหัวร่วมด้วย
ถ้ารู้ตัวว่าเริ่มมีอาการควรรีบไปปรึกษาหมอให้ช่วยหาวิธีรักษาเสียแต่เนิ่นๆ อาจจะด้วยวิธีนวดคลายกล้ามเนื้อ หรือถึงขึ้นต้องใช้ยา เพราะอาการเหล่านี้ถ้าปล่อยให้เกิดกับร่างกายเรานานๆ เข้า จะยิ่งรักษายาก หรือไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
สาเหตุของปัญหา
อาการปวดเมื่อยตามร่างกายของคนทำงานออฟฟิศ มีชื่อเรียกว่า “โรคออฟฟิศซินโดรม” หรือบางคนเรียกว่า ”โรคบ้างาน” ส่วนใหญ่เกิดกับคนทำงานรวมถึงคนที่ติดเกมหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องหลายชั่วโมงโดยไม่หยุดพักหรือพักในช่วงสั้นๆ แล้วก็รีบกลับมานั่งทำงานท่าเดิม บางคนถึงขั้น กินอยู่ หลับนอนอยู่กับโต๊ะทำงาน พอทำงานหนักขึ้นนานขึ้นกล้ามเนื้อไม่ได้พักผ่อน ไม่ได้ออกกำลังกาย รวมถึงท่าทางในการนั่งทำงานและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมในการทำงานเช่น โต๊ะ เก้าอี้ สูงหรือเตี้ยไป จอคอมพิวเตอร์วางสูงหรือต่ำกว่าระดับสายตา ห้องทำงานแคบ อยู่กันอย่างแออัด เรื่องเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม ได้ทั้งสิ้นซึ่งเป็นอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม
อาการของโรค
อาการจะเริ่มตั้งแต่ ปวดเมื่อย คอ ไหล่ ไล่มาถึงบ่าแล้วลงไปที่หลัง ปวดตึงแขนขา จนอาจถึงขั้นก้ม เงย หันคอไม่ได้เลย เหมือนคนที่นอนตกหมอน หนักเข้าก็ปวดหัว เวียนหัว ทำงานไม่ไหว ยังรวมถึงอาการข้างเคียงอื่นๆ ถ้ารู้สึกว่าเริ่มมีอาการเหล่านี้อาจใช้วิธีนวดคลายกล้ามเนื้อเพื่อให้อาการทุเลาลง แต่ถ้าเป็นมากๆ ควรไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางจะดีที่สุด บางคนอาจมีอาการปวดไปทั่วร่างกายรวมถึงมีอาการปวดหัวร่วมด้วยซึ่งเกิดมาจากความเครียดสะสม ถ้าปล่อยไว้นานเข้าอาจจะเจอกับภัยเงียบที่อาจจะเกิดตามมาได้ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เพราะรีบเร่งทำงานอั้นไว้ไม่ยอมไปเข้าห้องน้ำ โรคเครียด ความดัน โรคอ้วน กรดไหลย้อน
การป้องกันเบื้องต้น
อย่างที่สุภาษิตเขาว่า วัวหายแล้วล้อมคอก เจ็บแล้วคอยมารักษาคงไม่ทัน จริงๆ แล้วเราสามารถลดหรือป้องการอาการเหล่านี้ได้ด้วยการปรับปรุงพฤติกรรม สภาพการทำงานต่างๆ ให้เหมาะซึ่งจะช่วยลดการเกิดอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมลงได้ดังนี้
1. จัดวางท่าทางให้เหมาะสม
เรามักนั่งทำงานในท่าทางที่เราคุ้นเคย เช่นนั่งหลังงอ โต๊ะทำงานก็สูงจนต้องยกมือและไหล่ขึ้นสูงเพื่อใช้งานแป้นพิมพ์ เนื่องจากมักจะใช้โต๊ะเขียนหนังสือมาเป็นโต๊ะวางคอมพิวเตอร์ ยิ่งถ้าใครใช้คอมพิวเตอร์พกพา เวลาวางคอมพิวเตอร์ลงบนโต๊ะจะทำให้จอภาพอยู่ต่ำกว่าระดับสายตา มองจอแต่ทีก็ต้องก้มหน้า โน้มคอ งอหลัง ไปมองจอภาพ ถ้าทำงานอยู่ในท่านี้เป็นเวลานานๆ ก็จะเริ่มมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดแขน บางคนปวดลงถึงต้นขา ปวดน่อง เพราะขาก็วางไม่ถึงพื้นอาจเนื่องมาจากเก้าอี้สูงเกินไป
วิธีแก้ไขง่ายๆ คือปรับทุกอย่างให้อยู่ในตำแหน่งและท่าทางที่ถูกต้อง เริ่มด้วยการปรับพนักพิงให้ตรง นั่งให้ตัวตรง เลื่อนเก้าอี้ให้เข้าใกล้โต๊ะมากขึ้น มือจะได้อยู่ใกล้แป้นพิมพ์ไม่ต้องเอื้อม ถ้าขาเหยียบไม่ถึงพื้นก็หาอะไรมารองให้วางเท้าได้ถนัดขึ้น ต้นขา และน่องจะได้ไม่ปวดเมื่อย ปรับจอภาพให้อยู่ในระดับสายตา จะได้ไม่ต้องก้มหน้าทั้งวัน ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์พกพา ก็หาอะไรก็ได้มาหนุนให้สูงขึ้นจะได้มองจอได้ถนัด แล้วหาแป้นพิมพ์ ภายนอกมาใช้แทนแป้นพิมพ์ที่ติดมากับเครื่อง
2. การจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม
หลังจากจัดท่าทางการนั่งทำงานแล้ว ในที่นี้เราก็ต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำงานด้วย ซึ่งสภาพของสถานที่ทำงานก็มีผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ปฏิบัติงานได้เหมือนกัน เช่นการจัดสภาพแสง ควรจัดวางตำแหน่งนั่งทำงานให้ได้รับแสงจากธรรมชาติมากกว่าแสงไฟในห้องทำงาน หรือควรหาที่นั่งติดหน้าต่างได้ยิ่งดี จะได้พักสายตาโดยการมองออกไปนอกหน้าต่างเป็นครั้งคราว ซึ่งจะช่วยให้จะลดอาการเมื่อยล้าของสายตาลงได้ และควรเตือนตัวเองให้ลุกออกมาจากโต๊ะทำงาน ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ควรพักสัก 10 นาที เพื่อขยับร่ายกาย ขยับแขน ขยับขา ปรับสภาพห้องทำงาน ด้วยการเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทบ้าง หาต้นไม้ขนาดเล็กที่เจริญเติบโตได้ในร่ม มาปลูกเพื่อช่วย ฟอกอากาศ ช่วยกรองสารพิษ และยังใช้เป็นที่พักสายตาจากหน้าจอได้เป็นอย่างดี
ถ้าทุกคนปฏิบัติได้ตามนี้ อาการปวดตามร่างกายก็จะหายไป หรืออย่างน้อยก็บรรเทาลง คนที่ยังไม่เคยเป็น ก็สามารถนำไปปฏิบัติตามได้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ไห้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามถึงจะจัดวางท่าทางในการนั่งและสภาพแวดล้อมดีเพียงใด ถ้าหากยังหักโหมทำงานหนักจนไม่ยอมพักผ่อน อาการเจ็บปวดก็ยังอาจกิดขึ้นได้ ดังนั้นควรแบ่งเวลาทำงานกับเวลาพักผ่อนให้เหมาะสม หรือแม้แต่ระหว่างทำงานก็ควรจะมีการพักเป็นระยะ เช่น พักห้าถึงสิบนาทีทุกครึ่งชั่วโมงแล้วก็กลับมาทำงานต่อ แต่ไม่ใช่ แบ่งเวลาให้กับการพักมากกว่าเวลาทำงานล่ะ เดี๋ยวเจ้านายจะไล่ออกจากงาน แล้วทีนี้ จะมานั่งปวดใจในภายหลัง จะหาว่าไม่เตือน…
|