Skip to main content

ทัศนคติกับการเรียนรู้การโปรแกรม

           คำพูดของครูจะมีผลกระทบต่อเด็กเป็นอย่างมาก สิ่งที่ครูพูดจะนำไปสู่กระบวนการคิด พฤติกรรม ปฏิกิริยาโต้ตอบ อารมณ์และการแสดงออก สามารถเป็นไปได้ทั้งแง่บวกและแง่ลบต่อพฤติกรรมของเด็ก ดังคำของนักจิตวิทยาเด็กชื่อ ดร.เฮม จีนอตต์ กล่าวว่า “คำพูดของพ่อแม่และครูมีผลกระทบต่อการยอมรับนับถือและคุณค่าในตัวของเด็ก ซึ่งวิธีการสื่อสาร จะเป็นตัวกำหนดชีวิตในอนาคต” [1] ครูเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตและชะตากรรมของเด็ก จึง ควรเรียนรู้และศึกษาทักษะวิธีการสื่อสารที่ดีในการสอนแล้วนำมาใช้พัฒนาเด็ก ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลเพื่อช่วยให้เกิดทัศนคติแง่บวกต่อการเรียนรู้

ทำไมเด็กไม่อยากเรียน?

            สำหรับเด็กที่ไม่อยากเรียนอาจมาจากการมีทัศนคติแง่ลบกับการเรียน เช่น การเรียนหนังสือไม่รู้สึกท้าทาย ขาดแรงจูงใจ ไม่เห็นประโยชน์ของการเรียน ไม่สามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ ขาดทักษะที่จะใช้ในการเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอนของครูทำลายความอยากเรียนรู้  [2]

           ทัศนคติ คือความรู้สึกและท่าทีของคนเราที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นความรู้สึกในทางชอบ ไม่ชอบและมีผลทำให้บุคคลพร้อมที่จะตอบสนองต่อสิ่งนั้นตามความรู้สึกดังกล่าว ธรรมชาติของทัศนคติจะเกิดจากการเรียนรู้และประสบการณ์ของบุคคล  เกิดจากความรู้สึกที่สะสมมานาน เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคคลโดยทั่วไป สามารถถ่ายทอดไปสู่ผู้อื่นได้ และเปลี่ยนแปลงได้ [3],[5]

ทัศนคติในแง่บวกจึงเป็นเป็นหัวใจสำคัญของการอยากเรียนรู้ และส่งผลต่อการเรียนรู้ที่ดีมีประสิทธิภาพ ดังนั้นครูจึงจำเป็นจะต้องปรับทัศนคติกับการเรียนของเด็กให้เป็นแง่บวก รับฟัง สร้างความเป็นมิตร สร้างความเคารพนับถือ และชี้นำให้เห็นประโยชน์ในการเรียน เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เมื่อเด็กรู้สึกอย่างไรจะแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกัน หากเด็กรู้สึกดีจะมีความประพฤติดี

ทัศนคติแง่บวกกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

        ในการเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย วิชาการเขียนโปรแกรม เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งมีทัศนคติต่อการเรียนวิชานี้ว่า “หนูไม่ชอบการคำนวณ สูตร และสัญลักษณ์ประหลาดพวกนี้เลย” “หนูคิดว่ามันยากเกินไปที่สมองน้อยๆของหนูจะรับไหว” “ผมว่าผมคงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการเขียนโปรแกรมซักเท่าไร” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติแง่ลบที่มีต่อการเรียนวิชาการเขียนโปรแกรม

       ทัศนคติ เกิดจากความรู้ ความรู้สึกและความโน้มเอียงที่จะเกิดพฤติกรรม ซึ่งทั้งสามส่วนนี้มีอิทธิพลต่อกัน หากองค์ประกอบใดมีการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อทัศนคติที่เปลี่ยนไป ในที่นี้จะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบด้านความรู้สึก เพื่อเชื่อมโยงถึงการโน้มเอียงที่จะเกิดพฤติกรรม [4]

                ลองพิจารณาว่า ถ้าเราเป็นเด็กเราจะรู้สึกอย่างไรเมื่อสอบได้คะแนนไม่ดี แล้วครูพูดในลักษณะ ดังนี้[3]

  • A “ไม่มีเรื่องอะไรต้องมานั่งเสียใจ มันผ่านไปแล้วนี่นา แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว”
  • B  “ชีวิตมันก็อย่างนี้แหล่ะ ต้องมีความผิดพลาดไว้เป็นบทเรียน” 
  • C “ลองฝึกกันดูใหม่ไหม ฝึกตรงส่วนที่ผิดพลาดเพิ่มนะ”
  • D “หนูคิดว่าหนูผิดพลาดตรงไหนกัน ลองคิดซิ”
  • E  “โถ่! พลาดไปนิดเดียวเองเน๊อะ”

     จากสถานการณ์ดังกล่าวมีครูจำนวนไม่น้อยที่ใช้คำพูดเหล่านี้โดย ข้อ A ครูต้องการให้เด็กละทิ้งความเสียใจ ข้อ B ครูต้องการให้แง่คิดในเชิงปรัชญา ข้อ C ครูให้คำแนะนำในการเพียรพยายามเพิ่มขึ้น ข้อ D ครูให้เด็กตั้งคำถามเพื่อหาทางแก้ไขข้อผิดพลาด ข้อ E ครู ร่วมแสดงความเห็นอกเห็นใจ   คำพูดเหล่านี้ครูอาจต้องใช้ภาษากายและน้ำเสียงร่วมด้วย โดยต้องพิจารณาเลือกคำพูดให้เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบทพื้นฐานที่แตกต่าง ของแต่ละคน เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าได้รับการยอมรับและระบายความรู้สึกที่แท้จริงออกมา ครูจึงสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ได้อย่าง มีประสิทธิภาพ

     การเรียนรู้ที่ประสบผลสำเร็จ มีจุดเริ่มต้นจากทัศนคติ การสร้างทัศนคติแง่บวกคือ รับฟัง สร้างความเป็นมิตร ใส่หรือปรับความคิดใหม่โดยประเมินสภาพการยอมรับให้เหมาะสมกับพฤติกรรมรายบุคคล สร้างแบบอย่างที่ได้รับความนับถือ และชี้นำให้เห็นประโยชน์ที่เด็กได้รับ หากครูสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของเด็กเป็นแง่บวกได้ การจัดการเรียนรู้ก็จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะแตกต่างไปตามความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้ของเด็ก เด็กบางกลุ่มค้นพบว่าตัวเองชอบเขียนโปรแกรม ขณะที่บางกลุ่มที่ไม่ชอบการเขียนโปรแกรม ก็ไม่รู้สึกอึดอัดหรือลำบากใจที่จะเรียนวิชานี้ แม้ว่าครูจะไม่สามารถทำให้เด็กทุกคนรักที่จะเขียนโปรแกรม แต่ก็สามารถทำให้เด็กบรรลุวัตถุประสงค์ขั้นต้นของการเขียนโปรแกรมได้ทุกชั้นเรียน

 

ยกร่างบทความโดย นางสาวมุทิตา สำเภาเงิน  โรงเรียนชัยนาทพิทยาคม
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท

อ้างอิง

  1. บุษกริน  นิติวงศ์(2557). วิธีการพูดและสอนเด็ก เพื่อกระตุ่นให้เขาอยากเรียนรู้ –ฉบับปรับปรุง. กรุงเทพฯ:บี มีเดีย กรุ๊ป(ประเทศไทย)
  2. ไทย สเตมไลฟ์(2558). ทำไมเด็กไม่อยากเรียน[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://thaistemlife.co.th/com/?n=307. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558
  3. สุริยเดว  ทรีปาตี(2558). จิตวิยาวัยรุ่น[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.nicfd.cf.mahidol.ac.th/th/images/documents/3.pdf. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558
  4. จิรกุล  ครบสอน(2555). ความเครียดและพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของวัยรุ่นในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. สาขาวิชาการพยาบาลเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.
  5. กชณา  สามชูสินธุ์(2558). ทัศนคติและความสนใจ[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://docs.google.com/document/d/1VJWPKJdgeonoVxDPOHbK8Jzi5lksAKujmsNajnCaCUI/edit?sort=name&layout=list&pid=0B49o_E87-am7OGQ5OTk4OTEtZmFmYi00MDcwLTk3ZGYtNTZmYmQ5NzAyNDFh&cindex=1. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558

attitude, programming, การโปรแกรม