Skip to main content

Tag: ethics

คุณธรรมจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต

 

image001

ภาพที่ 1 การใช้งานอินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน

        อินเทอร์เน็ตถือเป็นสิ่งจำเป็นของสังคมในปัจจุบันของบุคคล ทุกเพศ ทุกวัย   ลองหันมองคนรอบๆ ข้างไม่ว่าจะขณะทานข้าว  นั่งรถโดยสาร หรือขณะเดินอยู่ก็ยังใช้อินเทอร์เน็ต จนเกือบเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต บางคนอยู่กับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลาทั้งใช้เพื่อการทำงาน  การศึกษา ความบันเทิง

image002

ภาพที่ 2 การใช้งานคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ต่างๆ

การใช้งานอินเทอร์เน็ตมีหลากหลายรูปแบบทั้งเพื่อค้นหาข้อมูล รับส่งข้อมูลข่าวสาร ดูหนัง ฟังเพลง ประชาสัมพันธ์  แลกเปลี่ยนความรู้ ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยได้รับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่หลากหลาย สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว

     นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อทำลายชื่อเสียง หลอกลวง สร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น เช่น หลอกลวงเพื่อขอบริจาคทรัพย์และสิ่งของ การนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ นำเสนอวิดีโอและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน

     จะเห็นได้ว่าโลกอินเทอร์เน็ตมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารทั้งด้านบวก และด้านลบ ดังนั้นผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารมีจำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลก่อนการตัดสินใจ โดยการค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ และน่าเชื่อถือ หากตัดสินใจโดยไม่ได้ไตร่ตรองอาจส่งผลเสียตามมาได้ ในขณะเดียวกันผู้นำเสนอควรมีคุณธรรมจริยธรรมในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ให้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและถูกต้อง ใช้ถ้อยคำที่สุภาพเหมาะสม การกล่าวถึงบุคคลอื่นควรระมัดระวังในการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือสร้างความเสียหายให้แก่บุคคลนั้นๆ  รวมถึงการเผยแพร่ข้อความของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นจึงควรใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม ตามบัญญัติ 10 ประการ [1] ซึ่งเป็นจรรยาบรรณที่ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ต้องยึดถือไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ผู้ใช้พึงระลึกและเตือนความจำเสมอ ดังนี้

                1. ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์ทำร้าย หรือละเมิดผู้อื่น เช่น ไม่ควรโพสต์ข้อความกล่าวหาบุคคลอื่นให้ได้รับความเสียหาย ไม่ควรโพสต์รูปภาพอนาจาร
                2. ต้องไม่รบกวนการทำงานของผู้อื่น เช่น เปิดฟังเพลงด้วยคอมพิวเตอร์ หรือเล่นเกมรบกวนผู้อื่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
                3. ต้องไม่สอดแนม แก้ไข หรือเปิดดูแฟ้มข้อมูลของผู้อื่น เช่น แอบเปิดอ่านอีเมลของเพื่อน แก้ไขข้อความของผู้อื่นที่ได้เผยแพร่ข้อความไว้แล้วก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย
                4. ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการโจรกรรมข้อมูลข่าวสาร เช่น การแอบเจาะระบบเพื่อขโมยข้อมูลการค้าของบริษัท ขโมยรหัสบัตรเครดิต
                5. ต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างหลักฐานที่เป็นเท็จ เช่น การแอบเจาะระบบเพื่อเปลี่ยนแปลงคะแนน
                6. ต้องไม่คัดลอกโปรแกรมของผู้อื่นที่มีลิขสิทธิ์ เช่น ดาวน์โหลดโปรแกรมที่มีลิขสิทธิ์มาใช้ โดยมีโปรแกรมแก้ไขเพื่อให้ใช้งานได้
                7. ต้องไม่ละเมิดการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์โดยที่ตนเองไม่มีสิทธิ์ เช่น ไม่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือไม่ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าใช้
                8. ต้องไม่นำเอาผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน เช่น คัดลอกผลงานของเพื่อน และนำมาเสนอในเว็บบล็อกของตนเอง โดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา
                9. ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากโปรแกรมที่ตัวเองพัฒนาขึ้น
                10. ต้องใช้คอมพิวเตอร์โดยเคารพกฎระเบียบ กติกา และมารยาทของสังคมนั้น

         image004

ภาพที่ 3 มีความสุขกับการใช้งานคอมพิวเตอร์

          หากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีคุณธรรมจริยธรรม  เคารพกฎกติกาและกฎระเบียบของสังคม มีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลอย่างถูกต้อง  ไม่เผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ตระหนักถึงการกระทำที่จะส่งผลเสียต่อสังคม จะทำให้สังคมอินเทอร์เน็ตเป็นสังคมที่น่าเชื่อถือ เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์  มีความปลอดภัย และสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีความสุข

ยกร่างบทความโดย นางอารีลักษณ์ ปุ๊กน้อย  โรงเรียนเทพสุวรรณชาญวิทยา  จ. สมุทรสงคราม
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.

อ้างอิง :

1.  สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร.  กรุงเทพฯ : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. กระทรวงศึกษาธิการ, 2553.