บริการจากกูเกิลกับชีวิตประจำวัน
หลายคนอาจรู้จักกูเกิลในฐานะเว็บไซต์ที่ให้บริการค้นหาข้อมูล (search engine) ที่มีความรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริการค้นหาข้อมูลที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน
รูปที่ 1 ตราสัญลักษณ์บริษัทกูเกิล[1]
นอกจากบริการค้นหาข้อมูลแล้ว กูเกิลมีบริการหลายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
รูปที่ 2 บริการค้นหาข้อมูลของ google
เช่น เตือนความจำ ตารางนัดหมาย สนทนา อีเมล แปลภาษา ตัวอย่างบริการของกูเกิลดังนี้
- Gmail บริการรับส่งอีเมลเพื่อการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ผู้ที่มีบัญชีผู้ใช้ Gmail สามารถใช้เชื่อมโยงกับบริการอื่นๆ ของกูเกิลได้ เข้าใช้บริการได้ที่ www.gmail.com หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต
รูปที่ 3 Gmail
- Google Calendar บริการปฏิทินและสมุดนัดหมาย ผู้ใช้สามารถทำการบันทึกวันเวลาของการนัดหมาย กำหนดแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนถึงเวลานัดได้โดยเลือกว่าจะให้เตือนผ่านป๊อบอัพหรืออีเมล นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งปันตารางนัดหมายกับบุคคลอื่นได้ เข้าใช้บริการได้ที่ www.google.com/calendar หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต
รูปที่ 4 Google Calendar
- Google Search บริการค้นหาข้อมูลที่เป็นข้อความ ภาพ เสียง และวิดีโอ โดยสามารถกำหนดรายละเอียดในการค้นหาเช่น ช่วงเวลาที่ข้อมูลนั้นๆ ถูกอัพโหลด ชนิดของไฟล์ รูปแบบของภาพ ขนาดของภาพ เข้าใช้บริการได้ที่ www.google.com หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต
- Google+ บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social networking) ทำให้เราแบ่งปันข้อมูลทั้งข้อความ ภาพ เสียง กับเพื่อนที่อยู่ในแวดวง (circle) ได้ เข้าใช้บริการได้ที่ https://plus.google.com หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต
รูปที่ 5 Google+ [2]
- Hangouts บริการสำหรับติดต่อสื่อสารผ่านข้อความ เสียงหรือวิดีโอ การสนทนาผ่านวิดีโอนั้นสามารถพูดคุยเป็นกลุ่มได้ครั้งละไม่เกิน 10 คน[3] การเข้าใช้บริการต้องใช้ผ่าน Google+ ที่ https://plus.google.com/ หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต
รูปที่ 6 โปรแกรม Hangouts
- Google Drive บริการพื้นที่เก็บข้อมูลระบบคลาวด์ นอกจากนี้ยังมีบริการสำหรับสร้างไฟล์ประมวลผลคำ (Google docs) ไฟล์ตารางงาน (Google sheets) ไฟล์นำเสนอ (Google slides) แบบสอบถาม (Google forms) โดยเข้าใช้งานได้ที่ www.google.com/drive/ หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต
รูปที่ 7 Google Drive
- Google Sites บริการพื้นที่และเครื่องมือสำหรับการสร้างเว็บไซต์ เว็บไซต์ที่ได้มี URL คือ https://sites.google.com/site/ชื่อเว็บตามที่ตั้งไว้/ โดยสามารถใส่ข้อความ ภาพแล้ว และลิงค์เชื่อมโยงวิดีโอจาก YouTube และสร้างลิงค์สำหรับการดาวน์โหลดไฟล์ได้อีกด้วย ช่องทางสำหรับการสร้างเว็บคือ https://sites.google.com/
รูปที่ 8 Google Sites
- Blogger บริการสร้างบล็อก (Blog) มีเครื่องมือพื้นฐานสำหรับการตกแต่งบล็อก เช่น การปรับแต่งข้อความ การใส่ภาพ ลิงค์ วิดีโอ เข้าใช้บริการได้ที่ www.blogger.com หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต
รูปที่ 9 Blogger
- YouTube ให้บริการพื้นที่สำหรับแบ่งปันวิดีโอ เช่นสื่อการสอน รายการโทรทัศน์ รีวิวอุปกรณ์ สาธิตการประกอบอาหาร ฯลฯ เข้าใช้บริการได้ที่ www.youtube.com หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต
รูปที่ 10 YouTube นำเสนอสื่อการสอนภาษาไพทอน
- Google Translate บริการช่วยแปลภาษา มีทั้งคำอ่าน และเสียงอ่าน ทำให้เราฝึกออกเสียงได้ สามารถแปลได้ทั้งคำศัพท์ ประโยค และเว็บเพจ หากป้อนเป็นคำจะแปลความหมายพร้อมบอกชนิดของคำด้วย เข้าใช้บริการได้ที่ https://translate.google.com หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต
รูปที่ 11 การใช้ Google Translate แปลคำศัพท์
รูปที่ 12 การใช้ Google Translate แปลเว็บ
- Google Maps บริการค้นหาสถานที่ การนำทาง และข้อมูลเส้นทาง ในบางพื้นที่สามารถใช้บริการ Street View เพื่อแสดงภาพพื้นที่จริงได้ ใช้บริการได้ที่ https://maps.google.com หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต
รูปที่ 13 Google Maps และ Street view
- เครื่องมือแปลงหน่วยวัดค่า บริการแปลงหน่วยวัดค่าต่างๆ จากหน่วยหนึ่งไปเป็นอีกหน่วยเช่นอัตราแลกเปลี่ยนเงิน อุณหภูมิ ความยาว ปริมาตร
รูปที่ 14 การแปลงค่าเงิน
- Calculator บริการเครื่องคิดเลขที่สามารถคำนวณค่าต่างๆ เช่น sin, cos, tan, log วิธีเข้าใช้บริการให้พิมพ์คำว่า “calculator” ในช่องค้นหาบนเว็บไซต์กูเกิล ดังตัวอย่างในรูปที่ 10
รูปที่ 15 ตัวอย่างหน้าต่าง Calculator
- Google Play บริการร้านค้าออนไลน์ ที่มีแอพลิเคชัน เพลง ภาพยนตร์และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งที่ให้ดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรีและเสียค่าใช้จ่าย ใช้บริการได้ที่ https://play.google.com หรือใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต
- Android ระบบปฏิบัติการที่ถูกสร้างเพื่อใช้งานบนสมาร์ทโฟน แทบเล็ต สมาร์ททีวี
- Google Chrome เว็บเบราว์เซอร์ใช้สำหรับเปิดเว็บเพจ สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมได้จาก www.google.com/chrome/
การใช้งานบางบริการของกูเกิลต้องลงชื่อเข้าใช้งาน (login) โดยใช้บัญชีผู้ใช้ Gmail หรือบัญชีผู้ใช้กูเกิล (Google Account) เนื่องจากกูเกิลมีระบบการจัดเก็บข้อมูลการใช้งานและจะทำการเชื่อมโยงข้อมูล(Synchronize) เมื่อเปิดใช้งานบริการต่างๆ ของกูเกิล เช่น ประวัติการเข้าชม คั่นหน้า (Bookmark) ปฏิทิน สมุดติดต่อ (Contact) [5]
ข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานของเราว้ทำให้กูเกิลสามารถแนะนำข้อมูลได้ใกล้เคียงความต้องการของเราได้มากขึ้นเรื่อยๆ และอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต เช่น การค้นหาสถานที่ เส้นทางการเดินทาง หรือแม้แต่วิธีเดินทาง การแจ้งเตือนนัดหมายต่างๆ และวันเกิด โดยใช้ข้อมูลจากปฏิทิน (Google calendar) มีการดึงเบอร์โทรศัพท์จากสมุดติดต่อ (Contact) ในโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android มาเก็บไว้ในสมุดติดต่อ (Contact) ของบัญชีผู้ใช้กูเกิล การเชื่อมโยงข้อมูลของกูเกิลจึงส่งผลให้ผู้ใช้มีความสะดวกสบายมากขึ้น
เมื่อมองอีกมุมหนึ่งก็เห็นถึงอันตรายหากบัญชีผู้ใช้กูเกิลถูกโจรกรรม นั่นหมายถึงข้อมูลส่วนตัวของเราอาจถูกนำไปใช้ในทางไม่ดี แม้กูเกิลจะให้มีการตรวจสอบ 2 ขั้นตอน (2-step Verification) เพื่อทำให้การลงชื่อเข้าใช้งานทำได้ปลอดภัยขึ้นโดยต้องระบุบัญชีผู้ใช้กูเกิลและรหัสผ่าน รวมทั้งส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือเพื่อตรวจสอบความเป็นเจ้าของ[6] อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ควรพิจารณาว่าจะเลือกใช้บริการใดและจะเชื่อมโยงข้อมูลกับบัญชีผู้ใช้กูเกิลหรือไม่ หากมีความจำเป็นต้องใช้ควรมีความรอบคอบ ระมัดระวังไม่ให้รหัสผ่านและโทรศัพท์มือถือตกไปอยู่ในมือของผู้อื่น
หมายเหตุ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมผลิตภัณฑ์ของกูเกิลได้ที่ http://www.google.com/about/products/
ยกร่างบทความโดย นางสาวชุลีพร สืบสิน โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต จ.ภูเก็ต
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.
อ้างอิง
[1] Available: http://www.google.com (Access 20 January 2015).
[2] “ทำความรู้จักกับ Google+”. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก: http://www.google.com/+/learnmore/features.html (วันที่สืบค้น 21 มกราคม 2558).
[3] Available: http://www.google.com/+/learnmore/hangouts/ (Access 29 January 2015).
[4] “ทำไมจึงควรลงชื่อเข้าใช้ Chrome”. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก: https://support.google.com/chrome/answer/165139?hl=th (วันที่สืบค้น 21 มกราคม 2558).
[5] “About 2-Step Verification”. [Online]. Available: http://support.google.com/accounts/answer/180744?hl=en (Access 21 January 2015).