Skip to main content

Tag: พนมยงค์ แก้วประชุม

ผลการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก 2016

ผลการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก 2016 ณ เมืองคาร์ซาน ประเทศรัสเซีย มีดังนี้

  • นายพีรสิชฌ์ เจริญจิตเสรีวงศ์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ได้เหรียญเงิน
  • นายเมธัส เกียรติชัยวัฒน์ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ได้เหรียญทองแดง
  • นายปิยวัฒน์ อานันทคุณ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้เหรียญทองแดง
  • นายนนทกฤษ ไชยวงค์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์. ได้เหรียญทองแดง

ioi2016

ในการเดินทางแข่งขันครั้งนี้มีคณะอาจารย์ผู้ฝึกสอนดังนี้

  • ผศ.ดร.นัทที นิภานันท์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีม
  • ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองหัวหน้าทีม
  • อ.ผนวกเดช สุวรรณทัต ศูนย์เสริมสร้างการเรียนรู้และการสอน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้ช่วยหัวหน้าทีม
  • ดร.อัครา ประโยชน์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้สังเกตการณ์
  • นายพนมยงค์ แก้วประชุม สาขาวิชาเทคโนโลยี ผู้จัดการทีม

ในปีนี้ทีมที่ส่งนักเรียนมาแข่งขัน 81 ทีมประเทศ และมีประเทศมาสังเกตการณ์เพื่อเตรียมส่งนักเรียนเข้าแข่งอีก 5 ประเทศ จำนวนผู้เข้าแข่งขัน 308 คน

จากซีพียูเครื่องเล่นเกมสู่ภารกิจพิชิตอวกาศ

      ภารกิจหนึ่งขององค์การบริหารการบินและอวกาศเแห่งชาติหรือนาซา(National Aeronautics and Space Administration: NASA) คือ การศึกษาวิจัยเพื่อแสวงหาความรู้เกี่ยวกับดวงดาวและอวกาศ  ดังนั้นเพื่อให้ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จให้มากที่สุด นาซาจึงมีโครงการส่งยานอวกาศออกไปค้นหา สำรวจดวงดาว วัตถุ ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดในอวกาศ และสิ่งมีชีวิตนอกโลก โดยโครงการนี้จะต้องมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปในอวกาศ  ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ เนื่องจากต้องใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานของยานอวกาศและสื่อสารมายังโลกตลอดการเดินทาง คอมพิวเตอร์ดังกล่าวจะต้องสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง แม่นยำและไม่หยุดการทำงานตลอดอายุการใช้งาน

ภารกิจยานอวกาศนิวโฮไรซอน การเดินทางไปสำรวจดาวพลูโต

      ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 2006 นาซาได้ส่งยาน อวกาศไร้คนขับชื่อนิวโฮไรซอน(New Horizons) ไปสำรวจดาวพลูโตรวมถึงดวงจันทร์ชารอน นอกจากนี้ยานอวกาศดังกล่าวยังได้เดินทางที่แถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ซึ่งอยู่ห่างจากวงโคจรของดาวเนปจูนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านไมล์ เพื่อสำรวจวัตถุอวกาศต่างๆ ที่ลอยอยู่บริเวณนี้

image01รูปที่ 1 ยานอวกาศนิวโฮไรซอน
ที่มา: http://www.nasa.gov/sites/default/files/thumbnails/image/nh-surface.jpg

     ในเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2015 ยานอวกาศนิวโฮไรซอนได้เคลื่อนที่เข้าใกล้ดาวพลูโตมากที่สุด ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถยืนยันได้ว่าดวงดาวและวัตถุที่อยู่ในบริเวณนี้มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็ง[1]

image02รูปที่ 2 ภาพจากยานอวกาศนิวโฮไรซอนแสดงพื้นผิวดาวพลูโตที่มีสภาพเป็นน้ำแข็ง
ที่มา : http://www.nasa.gov/sites/default/files/styles/full_width_feature/public/thumbnails/image/nh-mountainousshorline.jpg

     ยานนิวโฮไรซอนมีตัวตรวจจับและเครื่องมือที่วัดค่าต่างๆ ทางฟิสิกส์  จึงได้ส่งข้อมูลอุณหภูมิ คลื่น รังสี รวมทั้งการถ่ายภาพวัตถุอวกาศที่ยานเคลื่อนผ่านส่งกลับมายังโลก ซึ่งเป็นภารกิจที่ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานอัตโนมัติ[2]  คอมพิวเตอร์ที่ใช้จึงต้องสามารถทำงานตลอดการเดินทางจากโลกไปยังดาวพลูโตและแถบไคเปอร์เป็นเวลานานกว่า 10 ปี  โดยใช้ตัวประมวลผลที่แม่นยำและมีความเสถียรสูง นาซาได้เลือกใช้ซีพียู MIPS R3000 ในการประมวลผลและควบคุมการทำงานเพื่อให้ภารกิจของยานอวกาศบรรลุเป้าหมาย[3]

ซีพียู MIPS R3000

    ซีพียู MIPS R3000 เป็นซีพียูแบบแกนเดียว(single core) ขนาด 32 บิต ที่ผลิตขึ้นในปี ค.ศ. 1988 มีชุดคำสั่งที่เล็กมากเมื่อเทียบกับซีพียู 8086  มีความถี่ 16.67 – 33.33 MHz [4][5]  ซึ่งปัจจุบัน (ค.ศ.2016) ซีพียูบางตัวมีความเร็ว 4 GHz หรือมากกว่านั้น โดยในช่วงแรกมีการนำซีพียู MIPS R3000 นี้ไปใช้สำหรับหน่วยประมวลผลกลางของเครื่องคอมพิวเตอร์ Work station และ Server ต่อมาในปี ค.ศ. 1994 บริษัทโซนี่นำซีพียูชนิดนี้มาใช้เป็นตัวประมวลของเครื่องเล่นเกม Play station [6]  ซึ่งเป็นเครื่องเล่นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เช่น PS1 PS2 และ PSX  จึงทำให้ซีพียูนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในฐานะซีพียูสำหรับเครื่องเล่นเกม และต่อมานาซาก็ได้นำซีพียูนี้ไปพัฒนาเพื่อใช้เป็นซีพียูสำหรับคอมพิวเตอร์ของยานอวกาศนิวโฮไรซอน[7] ในภารกิจสำรวจดาวพลูโต

image03

เครื่องเล่นเกม Playstation 1 ซึ่งใช้ซีพียู MIPS R3000 เป็นตัวประมวลผล
ที่มา https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/6/63/PSone-Console-Set-NoLCD.jpg

จากซีพียูเครื่องเล่นเกม สู่ซีพียูยานอวกาศ

     จากซีพียู MIPS R3000 ซึ่งเป็นซีพียูสำหรับเครื่องเล่นเกม นาซาได้พัฒนาต่อเป็นรุ่นที่ใช้สำหรับยานอวกาศนิวโฮไรซอน เรียกว่า Mongoose-V โดยมีความเร็ว 12 MHz และสามารถทนต่อคลื่นและรังสีต่างๆ ที่อาจจะทำให้วงจรเสียหายได้ระหว่างเดินทางในอวกาศ[8]  ซีพียูนี้ได้เดินทางไปกับยานนิวโฮไรซอนในปี ค.ศ. 2006 และพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีปัญหาใดๆ ตลอดเวลาระยะเวลา 9 ปีจากโลกสู่ดาวพลูโต   

 

image04

ซีพียู Mongoose-V ที่พัฒนามาจาก MIPS R3000
ที่มา http://blog.imgtec.com/wp-content/uploads/2015/01/Mongoose-V-chip_inside.jpg

     จะเห็นได้ว่าจากซีพียูเครื่องเล่นเกมที่เราใช้เพื่อความสนุกสนานและความบันเทิงได้ก้าวขึ้นเป็นซีพียูสำหรับคอมพิวเตอร์ในยานอวกาศในที่สุด แล้วเพราะเหตุใดนาซาจึงเลือกซีพียูรุ่นนี้?

ปัจจัยที่นาซาเลือกซีพียู MIPS R3000

     ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าเหตุใดนาซาเลือกซีพียูรุ่นเก่าตัวนี้ติดตั้งไปกับยานอวกาศในโครงการสำรวจอวกาศที่มีมูลค่านับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหตุใดไม่เลือกซีพียูที่มีประสิทธิภาพสูงกว่านี้
     นาซาเลือกซีพียูนี้เนื่องจากต้องการระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความพร้อมใช้งานตลอดเวลา คงทนแข็งแรง สามารถทำงานได้ต่อเนื่องไม่มีวันหยุดภายใต้สภาวะแวดล้อมในอวกาศที่ไม่สามารถคาดเดาได้  นอกจากนี้ต้องมีความน่าเชื่อถือของระบบนั่นคือ ซีพียูสามารถประมวลผลข้อมูลได้อย่างถูกต้องโดยไม่มีข้อผิดพลาด[9]

ความสำเร็จของซีพียู MIPS ต่อภารกิจสำรวจอวกาศ

    แม้ซีพียู MIPS R3000 จะมีความเร็วไม่สูงมาก แต่นาซาก็ได้ตัดสินใจเลือกใช้ซีพียูตัวนี้ เพราะได้ผ่านการทดสอบทั้งในด้านความคงทนต่อการทำงานและความน่าเชื่อถือในการประมวลผล  ซีพียูตัวนี้จึงเหมาะสมกับการเดินทางพิชิตอวกาศในครั้งนี้

    ยานอวกาศ นิวโฮไรซอน พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถทำงานได้ต่อเนื่องอย่างถูกต้องแม่นยำตลอดเวลา 9 ปี และยังคงปฏิบัติภารกิจสำรวจอวกาศอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหมดอายุการใช้งานหรือจนกว่าจะขาดการติดต่อ

ยกร่างบทความโดย นายพนมยงค์ แก้วประชุม
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาวิชาเทคโนโลยี สสวท.

อ้างอิง

  1. NASA, New Horizons: The First Mission to the Pluto System and the Kuiper Belt, [Online], 
    Available: http://www.nasa.gov/mission_pages/newhorizons/overview/index.html [2016, Jan 25].

  2. NASA, APL New Horizons Fact Sheet, [Online], 
    Available:
     http://www.nasa.gov/sites/default/files/files/NHMissionFS082114HiPrint.pdf [2016, Jan 25].

  3. Tyler Lee, Probe Sent To Pluto Is Powered By The Original PlayStation’s CPU. ,[Online],
    Available: http://www.ubergizmo.com/2015/07/probe-pluto-original-playstation-cpu/ [2016, Jan 26].

  4. Chris Rowen, Mark Johnson, Paul  Ries, The MIPS R3010 Floating-Point Coprocessor,  IEEE Micro, vol. 8, no. 3, pp. 53–62, May/June 1988.

  5. ____, MIPS Technologies R3000,[Online], Available: http://www.cpu-world.com/CPUs/R3000/ [2015, Jul 15].

  6. ____, Everything You Have Always Wanted to Know about the Playstation But Were Afraid to Ask.,[Online], Available: http://www.raphnet.net/electronique/psx_adaptor/Playstation.txt  [2015, Jun 6].

  7. Aashish Sharma , The Original PlayStation CPU is Powering New Horizons,[Online], 
    Available: http://fossbytes.com/the-original-playstation-cpu-is-powering-new-horizons/ [2015, Jul 21].

  8. Alexandru Voica , MIPS goes to Pluto,[Online],
    Available: http://blog.imgtec.com/mips-processors/mips-goes-to-pluto [2015, Jan 15].

  9. ____, The CPU from the original PlayStation is guiding a probe to Pluto,[Online], 
    Available:  http://www.theverge.com/2015/1/15/7551365/playstation-cpu-powers-new-horizons-pluto-probe/in/8724384 [2015, Jan 15].

ทัศนศึกษากับ Google Street View

เขียนโดย นายพนมยงค์ แก้วประชุม นักวิชาการ สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท. 

        เทคโนโลยีแผนที่ออนไลน์เป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น  เราใช้บริการแผนที่ออนไลน์ช่วยอำนวยความสะดวก เช่น การค้นหาสถานที่  เส้นทางสำหรับการเดินทาง ตรวจสภาพจราจร   ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ให้บริการแผนที่ออนไลน์[1] เช่น Google Maps[2], Bing Maps[3], Yahoo Maps [4]  ซึ่งเป็นบริการที่ช่วยในการค้นหาสถานที่ต่างๆ จากแผนที่ และบริการอื่นๆ

12-1

รูปที่ 1 การใช้ Google Maps หาเส้นทางการเดินทางโดยรถยนต์จากอนุสารีย์ชัยสมรภูมิมายัง สสวท.

ปัจจุบันบริการ Google Maps นับเป็นบริการค้นหาตำแหน่งบนแผนที่ ซึ่งนอกจากให้ผลการค้นหาที่แม่นยำแล้ว ยังสามารถแนะนำเส้นทางสำหรับการเดินทางไปสถานที่ที่ต้องการได้ดังรูปที่ 1

Google Street View

          บริการ Google Street View เป็นบริการหนึ่งที่มีอยู่ใน Google Maps ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นสถานที่ตามเส้นทางหรือสถานที่ต่างๆ ในรูปแบบสามมิติ ซึ่งช่วยให้มองเห็นรายละเอียดของเส้นทางหรือสถานที่มากยิ่งขึ้น  โดยผู้ใช้สามารถคลิกไอคอน  แล้วลากไปวางบริเวณที่ต้องการ  จะได้ดังรูปที่ 2  ทำให้เห็นภาพสถานที่ต่างๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

 

 12-2

รูปที่ 2  Google Street View บริเวณหน้า สสวท.

สถานที่ทัศนศึกษา

          จากความสามารถของ Google Street View ทำให้เราสามารถทัศนศึกษาไปยังสถานที่ต่างๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางด้วยตนเอง  เพียงแค่ใช้คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก็สามารถเข้าชมสถานที่ทั้งในและต่างประเทศได้ ตัวอย่างสถานที่ในประเทศเช่น วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพ และดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ ดังรูปที่ 3

  
12-3  12-4

รูปที่ 3 ทัศนศึกษาวัดอรุณราชวราราม และดอยอ่างขาง โดยใช้ Google Street View

ตัวอย่าง สถานที่ต่างประเทศเช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟ ประเทศฝรั่งเศส และหอคอยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

 12-5  12-6

รูปที่ 4  ทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์ลูฟ(ซ้าย) หอคอยโตเกียว(ขวา) โดยใช้Google Street View

นอกจากนี้ สามารถเข้าชมสถานที่อื่นๆ ซึ่งมีการแบ่งเป็นหมวดหมู่เอาไว้ โดยเข้าไปชมได้ที่https:// www.google.com/Maps/views/streetview

 12-7

รูปที่ 5 สถานที่สำหรับทัศนศึกษาต่างๆ ทั่วโลก

          Google Street View ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเห็นสถานที่ต่างๆ ในมุมมองสามมิติ ทำให้สามารถทัศนศึกษาสถานที่ต่างๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงสถานที่จริง ซึ่งจะช่วยให้เกิดเรียนรู้อย่างสะดวก นอกจากนี้แล้ว google ยังช่วยประกอบการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ เช่น

  • เรียนรู้สภาพดิน หิน หรือการสึกกร่อน จากการสังเกตแกรนด์แคนยอน [5]

12-8

รูปที่ 6 แกรนด์แคนยอน

 

  • เรียนรู้ระบบนิเวศน์ และความหลากหลายทางชีวภาพของหมู่เกาะกาลาปากอส [6]

12-9

รูปที่ 7 หมู่เกาะกาลาปากอส

 

  • เรียนรู้สิ่งมีชีวิตและความเป็นอยู่บริเวณขั้วโลกใต้ [7]

 12-10

รูปที่ 8 บริเวณขั้วโลกใต้

 

  • เรียนรู้สภาพผืนป่าบริเวณแม่น้ำอะซอน [8]

 12-11

รูปที่ 9 ป่าบริเวณแม่น้ำอะซอน

  • เรียนรู้สถาปัตยกรรมและความสวยงามของทัชมาฮาล [9]

12-12

รูปที่ 10 ทัชมาฮาล

 

  • เรียนรู้สิ่งมีชีวิตในทะเล [10]

 12-13

รูปที่ 11 สิ่งมีชีวิตใต้ทะเล

          Google Street View ยังมีประโยชน์ต่อการศึกษาอีกมากมาย ทำให้เราข้ามไปหลายๆ สถานที่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว สามารถศึกษาสถานที่ห่างไกล รวมไปถึงสถานที่อันตรายหรือยากลำบากแก่การเดินทาง แต่ทั้งนี้ Google Street View ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ของโลก อีกทั้งภาพที่เห็นอาจไม่เป็นปัจจุบัน จึงควรพิจารณานำไปใช้ตามความเหมาะสม

 

Link อ้างอิง

  1. Wikipedia:  Global on-line maps, [Online], Available:http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_online_map_services#Global_on-line_Maps  [2014, Mar 25]
  2. Google map, [Online], Available:  https://www.google.com/maps [2014, Mar 25]
  3. Bing Map, [Online], Available: https://www.bing.com/maps [2014, Mar 25]
  4. YAHOO! MAP, [Online], Available: https://maps.yahoo.com/  [2014, May 30]
  5. Google Street View: Grand Canyon, [Online], Available:https://www.google.com/maps/views/streetview/grand-canyon?gl=th  [2014, May 30]
  6. Google Street View: Galapagos Islands, [Online], Available:https://www.google.com/maps/views/streetview/galapagos-islands?gl=th[2014, May 30]
  7. Google Street View: Antarctica, [Online], Available:https://www.google.com/maps/views/streetview/antarctica?gl=th  [2014, May 30]
  8. Google Street View: Amazon, [Online], Available:https://www.google.com/maps/views/streetview/amazon?gl=th  [2014, May 30]
  9. Google Street View: Taj Mahal, [Online], Available:https://www.google.com/maps/views/streetview/taj-mahal?gl=th  [2014, May 30]
  10. Google Street View: Oceans, [Online], Available:https://www.google.com/maps/views/streetview/oceans?gl=th  [2014, May 30]

การตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัย

เขียนโดย นายพนมยงค์ แก้วประชุม นักวิชาการ สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.  

    คอมพิวเตอร์ปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการประมวลผลสูง ซึ่งสอดคล้องกับกฎของมัวร์[1][2] ที่ว่า “จำนวนทรานซิสเตอร์บนวงจรรวมจะเพิ่มขึ้นสองเท่าทุก 2 ปี” นั่นหมายความว่า เมื่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการประมวลผลของคอมพิวเตอร์มีจำนวนมากขึ้น จึงทำให้ประสิทธิภาพในการประมวลผลสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้มากขึ้น อีกด้านหนึ่งของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังมีกลุ่มบุคคลที่อาศัยความเร็วในการประมวลของคอมพิวเตอร์เข้าถึงรหัสผ่านได้เร็วขึ้น

9-1

  รูปที่ 1 จำนวนทรานซิสเตอร์ซีพียูที่สูงขึ้น(ที่มา [3])

          จากรูปที่ 1 จะพบว่าวงจรการคำนวนในซีพียูซึ่งเปรียบเสมือนสมองของคอมพิวเตอร์มีเพิ่มมากขึ้นจากปี 1971 มีแค่ 2,300 วงจร เป็น 820 ล้านวงจรในปี 2007 จึงทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพการคำนวนที่สูงตามไปด้วย ขณะเดียวกันจะทำให้การเข้าถึงรหัสผ่านทำสำเร็จได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

 

เกิดอะไรขึ้นเมื่อถูกเจาะรหัสผ่าน

          เมื่อผู้ไม่หวังดีได้รหัสผ่านของเราไป เขาสามารถสวมรอยเป็นตัวเราในการดำเนินการต่างๆ ได้ เช่น การโอนเงิน การซื้อของออนไลน์ การโพสต์ข้อความที่สร้างความเสียหาย การแสดงความคิดเห็น การแชท หรือใช้ข้อมูลของเราในการหลอกลวงหรือก่ออาชญากรรมได้ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนสร้างความเสียหายแก่เจ้าของรหัสผ่านทั้งสิ้น

 

รหัสผ่าน ที่ไม่ปลอดภัย

          สำหรับผู้ที่มีรหัสผ่านต่อไปนี้[4] มีความเสี่ยงสูงที่คาดเดาได้ง่ายเพราะผู้ไม่หวังดีจะใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการคาดเดารหัสผ่านของท่าน เนื่องจากรหัสผ่านเหล่านี้เป็นรหัสผ่านที่ไม่ปลอดภัย ง่ายต่อการคาดเดา ดังนั้นข้อมูลของท่านจึงอาจถูกนำไปใช้สวมสิทธิ์ในการทำธุรกรรม เงินในบัญชีธนาคารอาจสูญหายได้

9-2

รูปที่ 2 ตัวอย่างรหัสผ่านที่ไม่ปลอดภัย

          จากรูปที่ 2 เป็นตัวอย่างรหัสผ่านที่นิยมใช้ นอกจากนี้ยังมีรหัสผ่านที่ไม่ปลอดภัยจำนวน 10,000 รหัส ซึ่งพบว่ามีผู้ใช้งานถึงร้อยละ 98 ที่กำหนดรหัสผ่านซึ่งตรงกับรายการรหัสผ่านนี้[5] (ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายการรหัสผ่านได้ที่ http://screwdesk.com/wp-content/uploads/2013/04/top-10000-passwords.txt)  

          สำหรับรหัสเลขสี่หลักที่นิยมใช้[4] มีดังนี้

9-3

รูปที่ 3 รหัสผ่านแบบตัวเลข 4 หลักที่นิยมใช้

          รหัสผ่านดังรูปที่ 3 ที่ใช้กันในบ้านเรามักจะเป็นรหัส ATM จึงพึงระวัง ควรหลีกเลี่ยงการตั้งรหัสในลักษณะดังกล่าว เพื่อป้องกันการสูญเสียเงินในบัญชี

 

ทดสอบความปลอดภภัยของรหัสผ่าน

          ในการตรวจสอบรหัสผ่านว่าปลอดภัยแค่ไหนสามารถเข้าไปที่https://howsecureismypassword.net/ แล้วทดลองพิมพ์รหัสผ่าน  เว็บไซต์จะรายงานผลว่ารหัสผ่านที่ระบุไปจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เดาถูกได้ภายในเวลาเท่าไหร่

9-4

รูปที่ 4 เว็บไซต์ https://howsecureismypassword.net/

 

8 ตัวอักษรปลอดภัยหรือ?

          จากการทดลองรหัสผ่านกับเว็บไซต์ข้างต้น โดยระบุรหัสผ่านคือ “h4*9G#\f” พบว่ารหัสผ่านนี้สามารถเดาถูกได้ภายใน 20 วัน ซึ่งจะเห็นว่าแม้ว่าจะตั้งรหัสผ่านให้เดายากเพียงใด ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถเข้าถึงรหัสผ่านขนาด 8 ตัวอักษรได้ภายในเวลาไม่ถึงเดือน หากรหัสผ่านนั้นเป็นของผู้ที่มีเงินหรือทรัพย์สินจำนวนมาก สำหรับผู้ไม่ประสงค์ดีแล้วก็คุ้มค่าแก่การรอ ดังนั้นรหัสผ่านขนาด 8 ตัวอักษรจึงไม่เพียงพอต่อความปลอดภัยอีกต่อไป การกำหนดรหัสผ่านควรมีความยาว 12 ตัวอักษรขึ้นไป[6]  ซึ่งนอกจากมีความยาวเพียงพอแล้วรหัสผ่านที่ดีควรเป็นรหัสผ่านที่ยากแก่การคาดเดา จึงต้องกำหนดรหัสผ่านที่มีตัวเลขและสัญลักษณ์พิเศษอยู่ด้วย

          ในที่นี้ทดลองตั้งรหัสผ่านความยาว 12 ตัวอักษร โดยให้มีอักษรพิเศษเพื่อให้เดายากคือ “h4*9G#\f98EL” พบว่าคอมพิวเตอร์ต้องใช้เวลาในการเข้าถึงรหัส 4 ล้านปีดังรูป

9-5

รูปที่ 5 ทดสอบรหัสผ่าน h4*9G#\f98EL ซึ่งมีความยาว 12 ตัวอักษร

 ซึ่งจะเห็นว่าการตั้งรหัสผ่านให้คาดเดายากต้องมีความยาวขนาด 12 ตัวอักษรขึ้นไปจึงจะมีความปลอดภัยเพียงพอ

 

เดายากก็จำยาก ทำอย่างไรให้เดายากแต่จำง่าย

          การตั้งรหัสผ่านที่คาดเดายากมักจะจำยากด้วย ในที่นี้จะนำเสนอเทคนิคบางประการในการตั้งรหัสผ่านให้จำง่ายดังนี้

          1. ใช้อักขระแทน เป็นการนำอักขระพิเศษมาใช้แทนตัวอักษร ตัวอย่างดังตาราง

9-6

ตารางการใช้อักขระพิเศษแทนตัวอักษรภาษาอังกฤษ

ตัวอย่าง QWERTYUIOP (ถูกเข้าถึงได้ทันที) เปลี่ยนเป็น QVV3RTY|_|I0P (7 ล้านปี)

 

         2. เติมอักขระพิเศษ  ในกรณีที่รหัสผ่านที่ตั้งไว้สั้นเกินไป สามารถเติมอักขระพิเศษให้มีความยาวมากพอได้เช่นรหัสผ่านเดิม คือ jordan  (ถูกเข้าถึงได้ทันที) เปลี่ยนเป็น j0rd@n ตามข้อ 1 แล้วเติมอักขระพิเศษให้ครบ 12 ตัวอักษร คือ ###j0rd@n###  (ใช้เวลาเดา 2,000 ปี)

           3. ตั้งรหัสผ่านเป็นประโยค วิธีการนี้จะใช้ร่วมกับการใช้อักขระพิเศษ เช่น  I like blue color นำมาตั้งรหัสผ่านคือ Ilikebluecolor  นำมาใช้อักขระพิเศษแทนคือ I1!kebluec010r

 

นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่นๆ ที่ช่วยให้จำรหัสผ่านได้ง่ายโดยขึ้นอยู่กับวิธีการของแต่ละคน ซึ่งหากรหัสผ่านเดิมที่มีอยู่เป็นรหัสผ่านที่เดาง่าย สามารถนำวิธีการข้างต้นไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

 

          เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รหัสผ่านก็ถูกเข้าถึงได้ง่าย ผู้ใช้งานจึงจำเป็นต้องตั้งรหัสผ่านให้เดายาก  ในปัจจุบัน(พ.ศ.2557) ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ตั้งรหัสมีความยาวอย่างน้อย 12 ตัวอักษรขึ้นไปจึงจะมีความปลอดภัยสูง การตั้งรหัสผ่านให้เดายากและมีความยาวเพียงพอ เจ้าของรหัสผ่านต้องมีวิธีตั้งให้ตัวเองจำได้ง่าย รหัสผ่านถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวที่จะต้องไม่ให้ผู้อื่นทราบโดยเด็ดขาด เมื่อใช้ไประยะเวลาหนึ่งควรเปลี่ยนรหัสผ่าน และพึงระวังการโดนหลอกถามหรือให้กรอกรหัส เพียงเท่านี้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินก็ปลอดภัยในระดับหนึ่งแล้ว

 

 

อ้างอิง

  1. Moore, G., Cramming more components onto integrated circuits. Electronics, Vol. 38, No. 8, 1965.
  2. __, 2007, 1965 – "Moore's Law" Predicts the Future of Integrated Circuits, Computer History Museum, [Online], Available: http://www.computerhistory.org/semiconductor/timeline/1965-Moore.html 
    [2014, Feb 25].
  3. Intel Corporation, Microprocessor Quick Reference Guide,[Online], Available: http://www.intel.com/pressroom/kits/quickreffam.htm [2013,Feb 27]
  4. David Harley,2012, Passwords and PINs: the worst choices, [Online], Available: http://www.welivesecurity.com/2012/06/07/passwords-and-pins-the-worst-choices/ [2013,Feb 25]
  5. Mark Burnett,2011, 10,000 Top Passwords , [Online], Available: https://xato.net/passwords/more-top-worst-passwords/#more-269 [2013, Feb 25]
  6. Wikipedia: The Free Encyclopedia, Password strength, [Online], Available: http://en.wikipedia.org/wiki/Password_strength [2013,Feb 27]