Skip to main content

Author: ohoadmin

Social Network สร้างสรรค์หรือทำลาย “การเรียนรู้”

                “… Facebook ของคุณชื่อว่าอะไร…” , “…ขอเพิ่มเป็นเพื่อนได้ไหมครับ..”, “Id Line ของคุณคืออะไร..”  ประโยคคำถามเหล่านี้เป็นคำถามในเครือข่ายสังคม    “Social Network” เป็นคำที่ทรงอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกเพศทุกวัย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม แม้กระทั่งในวงการศึกษา

                เหตุใด Social Network จึงมีอิทธิพลในสังคมไทย คำถามนี้เป็นคำถามที่ผู้เขียนมีความเห็นว่า เพราะคนไทยยินดีที่จะบริโภค Social Network นั่นเอง  ข้อมูลจากเว็บไซต์ socialbakers.com1 เปิดเผยว่า ใน พ.ศ.2554 มีคนไทยใช้งาน Facebook ประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มคนที่ใช้เป็นกลุ่มคนที่มีสถานะทางการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมสูง และช่วงอายุของคนที่ใช้งาน Social Network คือช่วงอายุ 18-34 ปี ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศชาติ  มีการใช้ชีวิตประจำวันเกี่ยวข้องกับการใช้ Social Network เป็นอย่างมาก ซึ่งหากสังคมไทยไม่เร่งสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อตั้งรับกระแส Social Network ให้ดีแล้ว ประเทศไทยอาจจะได้รับพิษภัยของ Social Network มากกว่าที่จะรับประโยชน์ก็ได้

Social Network มักใช้สื่อสารที่มาจากคนหลายกลุ่ม เช่น คนในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน จึงทำให้คนในสังคมไทยให้ความสำคัญกับ Social Network มากกว่าการสื่อสารแบบอื่น และคุณลักษณะของ Social Network สามารถแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารด้วยความรวดเร็ว จึงทำให้ผู้ส่งสารและผู้รับสารมีความชื่นชอบและนิยมมากขึ้น นักเรียนเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่นิยมใช้ Social Network ในชีวิตประจำวันทั้งเรื่องส่วนตัวและการศึกษา หากครูไม่นำการใช้ Social Network เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการจัดการเรียนรู้ ดูเหมือนกับจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย และนักเรียนก็จะไม่ให้ความสนใจ หรือไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้น ครูจะมีกุศโลบายอย่างไรที่จะช่วยให้นักเรียนใช้ Social Network ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การนำ Social Network มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในเรียนรู้ของนักเรียนสามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนที่จะต้องพิจารณาถึงจุดประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับนักเรียน เช่น ครูสามารถแจ้งข้อมูลข่าวสารให้นักเรียนทราบโดยการ โพสต์ลงในกระดานข้อความ หรือการนัดหมายกิจกรรมผ่านอีเมล [2,3,4]

ในการนำ Social Network มาใช้จัดการเรียนรู้นั้น ไม่ควรใช้ทุกแผนการเรียนรู้ เพราะ Social Network เป็นเพียงสื่อการจัดการเรียนรู้ประเภทหนึ่งเท่านั้น การออกแบบการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาใดๆ ควรจะมีการเลือกใช้สื่อให้หลากหลาย  โดยพิจารณาเลือกใช้ตามคุณสมบัติของ Social Network  เช่น การมอบหมายงานและรับส่งงานด้วยอีเมล ต้องแนะนำให้นักเรียนคำนึงถึงมารยาทให้การรับส่งข้อมูล  พิมพ์ข้อความตามรูปแบบของจดหมาย ซึ่งจะต้องมีคำขึ้นต้น เช่น เรียน คุณครู …..  สำหรับเนื้อความของจดหมายจะต้องพิมพ์เป็นย่อหน้าให้ชัดเจน และจะต้องมีคำลงท้ายเสมอ เช่น ด้วยความเคารพอย่างสูง เป็นต้น

นอกจากนี้ ควรให้นักเรียนส่งสำเนาอีเมลไปยังผู้ปกครอง เพื่อให้ทราบผลการปฏิบัติงานของนักเรียน หากนักเรียนคนใดที่ผู้ปกครองไม่ได้ใช้อีเมล  ให้ส่งถึงบุคคลอื่นที่เป็นผู้ใกล้ชิดหรือคนรู้จักได้ เช่น ครูประจำชั้นของนักเรียน ญาติ และให้ส่งความคิดเห็นของผู้ปกครองกลับมายังผู้สอน  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลงานนักเรียน  ดังนั้นการนำ Social Network มาใช้ในการจัดการเรียนรู้สามารถทำได้ โดยขึ้นอยู่กับครูผู้ออกแบบการจัดการเรียนรู้ว่าจะพิจารณาเลือกใช้ Social Network อย่างไรจึงจะเหมาะสมกับจุดประสงค์การเรียนรู้

                ครูผู้สอนควรนำ Social Network ที่นักเรียนให้ความสนใจ เช่น facebook หรือ line มาเป็นเครื่องมือช่วยในการจัดการเรียนรู้ เช่น สร้างกลุ่มใน facebook และ line เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างครูและนักเรียน เมื่อครูได้แจกเอกสารใบความรู้ หรือมอบหมายภาระงานใดๆ ในห้องเรียนแล้ว ครูก็สามารถโพสไฟล์เอกสารใบความรู้หรือไฟล์รายละเอียดภาระงานในรูปแบบของไฟล์เอกสาร หรือไฟล์รูปภาพลงในกลุ่ม  facebook และ line อีกครั้งเพื่อเป็นการย้ำเตือนให้นักเรียนรับทราบ หากนักเรียนมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามเกี่ยวกับเนื้อหาสาระการเรียนหรือภาระงานก็สามารถพิมพ์ข้อความหรือคำถามส่งในกลุ่ม facebook หรือ line ได้ทันที ครูผู้สอนก็จะตอบข้อคำถามนั้นกลับมาในกลุ่ม facebook หรือ line ซึ่งจะช่วยให้เพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ ได้เห็นข้อคำถามและตำตอบนั้นพร้อมกัน นับเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลที่มีประโยชน์ต่อคนกลุ่มใหญ่ด้วย  นอกจากนี้ครูอาจเชิญชวนให้ผู้ปกครองนักเรียนที่ใช้งาน facebook หรือ line เข้าร่วมกลุ่มดังกล่าวที่สร้างขึ้น ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองนักเรียนได้รับทราบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ในรายวิชา ผู้ปกครองนักเรียนอาจจะช่วยกำชับและกระตุ้นเตือนนักเรียนให้มีความรับผิดชอบการเรียนในรายวิชานั้นๆ มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นนับเป็นการใช้ Social Network  มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                และในปัจจุบันการติดต่อสื่อสารจะใช้ การใช้ครูผู้สอนการใช้ Social Network เป็นการใช้งานส่วนบุคคลอย่างอิสระ ดังนั้น การดูแลป้องกันนักเรียนให้ห่างไกลจากพิษภัยของการใช้ Social Network จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะครูและผู้ปกครอง การควบคุมดูแลภายในห้องเรียนเป็นความรับผิดชอบของครู เวลาอยู่ที่บ้าน การเอาใจใส่และดูแลเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง ครูควรชี้แจงให้ผู้ปกครองได้ทราบถึงความจำเป็นที่นักเรียนต้องใช้งาน Social Network มาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ปกครองช่วยติดตามและกวดขันการใช้งาน Social Network ของนักเรียนให้มีความปลอดภัย

                กล่าวโดยสรุปการออกแบบกิจกรรรมการเรียนรู้ของครูเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ Social Network เป็นสื่อที่สร้างสรรค์การเรียนรู้ของนักเรียน ครูควรพิจารณาเลือก Social Network มาใช้ให้เหมาะสม รวมถึงการมอบหมายงาน ควรสนับสนุนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านต่างๆ อย่างถูกวิธี ทั้งนี้ครูควรปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักเรียนในการใช้ Social Network อย่างคุณธรรมจริยธรรมและไม่ผิดกฎหมาย อีกทั้งร่วมมือกับผู้ปกครอง ดูแล ติดตามและกวดขันการใช้งาน Social Network ของนักเรียน  สิ่งเหล่านี้จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่นักเรียนในการตั้งรับกระแสการใช้งาน Social Network ในสังคมไทยให้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ 

ยกร่างบทความโดย นายกำพล วิลยาลัย โรงเรียนบรมราชินีนาถราชวิทยาลัย  จ.ราชบุรี
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.

บรรณานุกรม

[1] socialbakers.com (2554). ผลกระทบของโซเชียลเน็ตเวิร์คหรือโซเชียลมีเดียต่อสังคมไทย [ออนไลน์].
                เข้าถึงได้จาก https://sites.google.com/site/socialnetwork52011011419/phlk-ra-thb.
                สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558.

[2] เสกสรร สายสีสด (2557).  สื่อใหม่กับการเรียนรู้ [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
               http://www.slideshare.net/Drseksun1/ci13501chap4. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558.

[3] ตวงพร ดำฤทธิ์ (2555 ). Social Network กับการเรียนการสอน [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
               http://www.gotoknow.org/post/443605. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558.

[4] สุพณิดา สุมิตร (2555).  Social Network กับการศึกษา [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
               http supanida5521202761.blogspot.com/2012/10/cosial-network.html?m=1. สืบค้นเมื่อวันที่
               20 มกราคม 2558.

การเขียนโปรแกรมกับการพัฒนาทักษะด้านการคิด

อาชีพโปรแกรมเมอร์เป็นอาชีพที่หลายๆ คนใฝ่ฝัน เพราะมีรายได้สูงและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน  สืบเนื่องจากการเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่มีการแข่งขันสูง ส่งผลให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งมีหลักสูตรการเรียนการสอนการเขียนโปรแกรมตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา  การสอนให้นักเรียนเป็นโปรแกรมเมอร์ได้นั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ  ซึ่งต้องอาศัยทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผลและการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน รวมไปถึงการใช้ขั้นตอนวิธีหรืออัลกอริทึม (Algorithm) ในการถ่ายทอดความคิดอย่างเป็นระบบจึงจะนำไปสู่การเขียนโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพ

อัลกอริทึม คืออะไร (What is Algorithm?)

ราชบัณฑิตยสถาน ได้บัญญัติคำว่าอัลกอริทึม (Algorithm) เป็นภาษาไทยว่าขั้นตอนวิธี[1] ซึ่งมีความหมายคือ เป็นลำดับของขั้นตอนการคำนวณที่ใช้แก้ปัญหา โดยการเปลี่ยนข้อมูลนำเข้าของปัญหา (input) ออกมาเป็นผลลัพธ์ (output) ขั้นตอนวิธีดังกล่าวนั้นจะสามารถนำมาเขียนเป็นโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ได้ [2]

ในการแก้ปัญหาโดยใช้คอมพิวเตอร์นั้น  การออกแบบวิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและง่ายต่อการทำความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญมาก  เพราะจะทำให้สามารถเขียนโปรแกรมจากขั้นตอนวิธีที่ได้ออกแบบไว้ได้ง่าย   ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้เพื่อการออกแบบขั้นตอนวิธี  เช่น รหัสลำลอง (pseudocode)  เป็นการเขียนขั้นตอนวิธีการแก้ปัญหา  โดยการอธิบายเป็นข้อความทีละขั้น

image001
รูปที่  1 ตัวอย่างรหัสลำลอง

ผังงาน (Flowchart) เป็นการใช้สัญลักษณ์ในการแสดงรายละเอียดและลำดับของแต่ละขั้นตอนที่ใช้แก้ปัญหา[3]

image002รูปที่ 2 ตัวอย่างผังงาน

           รหัสลำลองหรือผังงานจึงเป็นการเขียนความคิดในการแก้ปัญหาที่เป็นขั้นตอนวิธีออกมาในรูปแบบของข้อความหรือสัญลักษณ์เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าขั้นตอนวิธีนั้นสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่  ซึ่งปัญหาแต่ละปัญหาอาจจะมีวิธีในการแก้ปัญหาได้หลายวิธีซึ่งขั้นตอนวิธีในการแก้ปัญหาของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไปตัวอย่างการแสดงขั้นตอนวิธีในการแก้ปัญหาของการหา ผลรวมของจำนวนนับตั้งแต่ 1 – N  ดังนี้

ขั้นตอนวิธีของนักเรียนคนที่ 1 ขั้นตอนวิธีของนักเรียนคนที่ 2

ภาพที่ 3 ผังงานในการแสดงขั้นตอนวิธีในการหาผลรวมของจำนวนนับตั้งแต่ 1 – N

           จะเห็นได้ว่านักเรียนทั้งสองคนแสดงลำดับขั้นตอนวิธีในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันแต่ได้ผลลัพธ์เหมือนกัน  จากผังงานนักเรียนคนที่ 1 คิดขั้นตอนวิธีการหาผลลัพธ์จากการนำตัวเลขทั้งหมดบวกกันไปเรื่อยๆ จนถึงจำนวนที่ N  หรือตัวสุดท้าย  ทำให้มีการประมวลผลหรือคำนวณถึง N ครั้งกว่าจะได้ผลลัพธ์  สำหรับนักเรียนคนที่ 2  คำนวณโดยใช้สูตรมีการประมวลผลเพียงครั้งเดียวก็สามารถหาผลลัพธ์ได้ซึ่งมาจากการเรียนรู้และประสบการณ์ในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ดังนั้นนอกจากสองวิธีที่กล่าวมาอาจยังมีวิธีในการแก้ปัญหานี้อีก

ดังนั้นผู้สอนจะต้องสอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ขั้นตอนวิธีที่หลากหลาย  ชี้แนะแนวทางในการแก้ปัญหาให้ผู้เรียนสามารถเลือกใช้ขั้นตอนวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา  การสอนกระบวนการคิดแก้ปัญหานั้นจะต้องสอนให้ผู้เรียนได้ใช้เหตุผลในการการหาคำตอบ  อาจจะใช้การลองผิดลองถูก  การแยกคำตอบที่ไม่ต้องการ   หรือใช้วิธีการอื่นๆ ที่สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับตัวปัญหาและประสบการณ์ของผู้แก้ปัญหาเอง  วิธีการเหล่านี้มีขั้นตอนหลักที่คล้ายคลึงกัน  ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน[5]     ได้แก่  1) การวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา  2) การเลือกเครื่องมือและออกแบบขั้นตอนวิธีในการแก้ปัญหา  3) การดำเนินการแก้ปัญหา      4) การตรวจสอบและปรับปรุงวิธีการ การฝึกให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหานั้นผู้สอนจะต้องหารูปแบบของปัญหาที่หลากหลายเพื่อสร้างประสบการณ์ในการแก้ปัญหาให้กับผู้เรียน  และฝึกให้ผู้เรียนได้ใช้วิธีการแก้ปัญหาให้ครบตามหลักและวิธีการแก้ปัญหา  จะทำให้ผู้เรียนมีทักษะด้านการคิดที่สูงขึ้นซึ่งวิธีการเหล่านี้จะนำไปใช้ในการฝึกเขียนโปรแกรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเรียนรู้ขั้นตอนวิธีจำเป็นต่อการเขียนโปรแกรมอย่างยิ่งเพราะเป็นการพัฒนาทักษะในด้านการคิดให้ผู้เรียนสามารถแก้ปัญหาอย่างมีขั้นตอนวิธีนำไปสู่เป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่ต้องการ ขั้นตอนวิธีในการแก้ปัญหาที่ดีจะช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างมาก  ซึ่งเป็นหลักการที่นักเขียนโปรแกรมทุกคนต้องมี  หากนำกระบวนการคิดตามขั้นตอนวิธีไปใช้วางแผนหรือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อให้ได้เป้าหมายที่ต้องการ โดยกำหนดขั้นตอนการดำเนินชีวิตและปฏิบัติตามทุกขั้นตอนก็จะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างแน่นอน

ยกร่างบทความโดย นายพลกฤษณ์  รินทรึก โรงเรียนจำปาหลวงวิทยาคม  จ.กาฬสินธุ์
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท

อ้างอิง

[1]      ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2546,2546 หน้า 5

[2]      สมชาย ประสิทธิ์จูตระกูล, การออกแบบและวิเคราะห์อัลกอริทึม, 2545, หน้า 1

[3]      Wikipedia:The Free Encyclopedia,ขั้นตอนวิธี[ออนไลน์]. เข้าถึงจาก http://th.wikipedia.org/wiki/ขั้นตอนวิธี [2015,Jan 21]

[4]      สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กระทรวงศึกษาธิการ,เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6,พ.ศ.2555,หน้า 191

[5]      สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กระทรวงศึกษาธิการ,เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6,พ.ศ.2555,หน้า 188-193

“โครงงานคอมพิวเตอร์” สะท้อนสมรรถนะการเรียนรู้ด้าน ICT

               การสอนแบบโครงงานเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการฝึกปฏิบัติ โดยให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมในปัญหาหรือประเด็นที่นักเรียนสงสัย ด้วยการวางโครงงานและดำเนินการให้สำเร็จตามโครงงานนั้น อาจเป็นโครงงานที่จัดทำเป็นหมู่คณะหรือคนเดียวก็ได้ เพื่อให้นักเรียนรู้จักการทำงานเป็นกลุ่มได้ใช้สติปัญญา ไหวพริบ ความรอบคอบ ความอดทนและความรับผิดชอบ1  การสอนแบบโครงงานจึงเป็นกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่ส่งเสริมให้นักเรียนศึกษาหาคำตอบในประเด็นที่ตนเองสนใจ โดยใช้ทักษะกระบวนการศึกษามีที่ขั้นตอน และใช้รูปแบบวิธีการศึกษาหาความรู้ที่หลากหลาย ดังนั้น “โครงงาน” ก็อาจเป็นภาพสะท้อนผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของนักเรียนได้เช่นเดียวกัน ปัจจัยเกื้อหนุนให้การสอนแบบโครงงานให้ประสบความสำเร็จได้ก็คือ “ครู”   ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในทุกขั้นตอนของการทำโครงงาน ครูควรกระตุ้นและอำนวยความสะดวกในการทำงานให้แก่นักเรียนด้วยวิธีการที่หลากหลาย  เสนอแนะแหล่งข้อมูลและแหล่งความรู้ในการศึกษาค้นคว้า ตลอดจนตรวจการเขียนรายงานโครงงานให้นักเรียนอย่างละเอียด  
                ฐานะครูผู้สอนโครงงานคอมพิวเตอร์จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำนักเรียนในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกหัวข้อโครงงานที่สนใจ แม้นักเรียนจะนำเสนอประเด็นหัวข้อที่ตนเองสนใจศึกษา แต่ครูจะต้องให้ข้อคิดในการตัดสินใจแก่นักเรียนว่า การเลือกหัวข้อที่จะนำมาพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์ควรพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น นักเรียนควรมีความรู้และทักษะพื้นฐานอย่างเพียงพอในประเด็นหัวข้อที่ต้องการศึกษา สามารถจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องได้เพียงใด ระยะเวลาในการพัฒนาโครงงานมีเพียงพอหรือไม่ รวมไปถึงการใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม เป็นต้น     ครูควรจะเน้นย้ำให้นักเรียนตระหนักว่าองค์ประกอบข้างต้นนี้จะเป็นตัวช่วยบ่งชี้ว่าการพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์ของนักเรียนสัมฤทธิ์ผลเพียงใด

                “การเขียนรายงาน” เป็นขั้นตอนหนึ่งที่ครูควรแนะนำให้นักเรียนใส่ใจและตระหนักว่า การเขียนรายงานเป็นการสื่อความหมายให้ผู้อื่นได้เข้าใจแนวคิดในการพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์ของตนเอง ควรใช้ภาษาให้ถูกต้อง อ่านง่าย ชัดเจน กระชับ ครอบคลุมทุกหัวข้อของการเขียนรายงานและอ้างอิงแหล่งข้อมูลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้มากขึ้น 

image001
นักเรียนร่วมปรึกษาหารือปฏิบัติโครงงานโครงงาน

                ในพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์ต้องมีการวัดและประเมินผล ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่สะท้อนให้ทราบว่า นักเรียนเกิดการเรียนรู้หรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ครูควรจะทำความเข้าใจและตกลงร่วมกันกับนักเรียนเกี่ยวกับเกณฑ์การวัดและประเมินผลก่อนเริ่มขั้นตอนการพัฒนาโครงงาน โดยแจ้งให้นักเรียนทราบว่าการวัดและประเมินผลจะเริ่มตั้งแต่ก่อนลงมือทำกิจกรรม กระบวนการทำงานตามแผนที่วางไว้และผลสำเร็จของงาน ตลอดจนจะประเมินการแก้ไขปัญหาหรือข้อบกพร่อง  รวมถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานจนสิ้นสุดการปฏิบัติงาน การประเมินจะประเมินตามที่ตกลงกันไว้และจะไม่นำผลงานมาเปรียบเทียบกัน เนื่องจากโครงงานคอมพิวเตอร์ของนักเรียนเกิดจากประเด็นหัวข้อที่นักเรียนสนใจใคร่รู้ที่แตกต่างกัน และจะแจ้งผลย้อนกลับแก่นักเรียน เพื่อให้นำผลประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาต่อไป ทั้งนี้อาจจะใช้หลักการประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ต้องการให้นักเรียนเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ  พุทธพิสัย    จิตพิสัยและทักษะพิสัย
                ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “โครงงานคอมพิวเตอร์”  เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะช่วยให้นักเรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ 5 สมรรถนะตามหลักสูตรแกนกลาง คือ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิตและความสามารถในการใช้เทคโนโลยี  นอกจากนี้ยังจะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเป็นบุคคลที่ใฝ่เรียนใฝ่รู้ ตลอดจนเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรมของผู้ใช้งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น ไม่คัดลอกโปรแกรมที่มีลิขสิทธิ์ ไม่การละเมิดการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์โดยที่ตนเองไม่มีสิทธิ์ ไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง ผลงานที่ได้ต้องไม่สร้างความเสียหายต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวนี้เมื่อนักเรียนนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันในภายหน้า จะช่วยให้นักเรียนดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข  

 

ยกร่างบทความโดย นายกำพล วิลยาลัย โรงเรียนบรมราชินีนาถราชวิทยาลัย  จ.ราชบุรี
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.

บรรณานุกรม

[1] ศุภรัตน์ พรหมทอง (2553) . การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
                    http://supatat-project.blogspot.com/p/blog-page.html. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558.
[2] ณัฎฐ์ชรินทร์ ตลอดพงศ์ (2552) . ครูมืออาชีพกับวิธีการสอนแบบโครงงาน [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
                    http://www.sahavicha.com/?name=article&file=readarticle&id=731.
                    สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2558.

หนังสือเรียนภาษาไพทอน

หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสือสาร วิชาภาษาไพทอน(python)  ราคา 87 บาท

เหมาะสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและผู้สนใจการเขียนโปรแกรม

ติดต่อ สอบถามรายละเอียดและสั่งซื้อได้ที่

องค์การค้าของ สกสค.
2249 ถ.ลาดพร้าว แขวงสะพานสอง
เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
02-514-4023-30 ต่อ 222,223

หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่  http://www.suksapanpanit.com/index.php?route=product/product&path=117_85_110&product_id=2175

coverPython1

คณะบรรณาธิการบทความ

  1. นายพรพจน์ พุฒวันเพ็ญ                      สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.
  2. นายนิพนธ์    ศุภศรี                            สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.
  3. นางสาวจินดาพร หมวกหมื่นไวย            สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.
  4. นางสาวทัศนีย์   กรองทอง                   สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.
  5. นางสาวพรพิมล   ตั้งชัยสิน                  สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.
  6. นายพนมยงค์   แก้วประชุม                  สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.
  7. นางสาววชิรพรรณ ทองวิจิตร                สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.

ขอเชิญร่วมงานการประชุมสัมมนาทางวิชาการและประชุมเชิงปฏิบัติการ “การศึกษาไทยเพื่ออนาคต”

สสวท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดประชุมสัมนาทางวิชาการและประชุมเชิง ปฏิบัติการ (CTEF2015) วันที่ 23-24 ก.ค 58 ผู้สนใจเข้าร่วมลงทะเบียนได้ที่ www.ku.ac.th/ctef2015

1banner_ctef2015

       ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศในการสร้างเยาวชนยุคใหม่ที่มีความ เข้มแข็งทางปัญญา มีความสนใจใฝ่รู้ และมีทักษะการแสวงหาความรู้และแก้ปัญหาด้วยตนเอง  ผ่านกระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษาในศตวรรษที่ 21 จึงได้จัดงานการประชุมสัมมนาทางวิชาการและประชุมเชิงปฏิบัติการ “การศึกษาไทยเพื่ออนาคต (Conference for Thailand Education Future (CTEF))” ในหัวข้อ Smart Education for 21st Century Learning

เนื้อหาการประชุมสัมมนา

การบรรยายทางวิชาการ

  • Smart Education
  • STEM Education
  • Ubiquitous Learning
  • New Pedagogy for Smart Education
  • Technology for Smart Education
  • Cloud Based Learning

การประชุมเชิงปฏิบัติการ

  • Smart Education
  • STEM Education
  • Technology for Smart Education

การลงทะเบียน

การชำระเงิน

ชำระเงินตามช่องทางต่อไปนี้

  • เงินสด ชำระได้ที่สำนักบริการคอมพิวเตอร์ ชั้น 7
  • ไปรษณีย์ธนาณัติ สั่งจ่าย "นางอรุณ นฤทุม" สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตู้ปณ.1108 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กทม. 10903
  • เช็คขีดคร่อม สั่งจ่าย "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" (รับเฉพาะเช็คหน่วยงาน)
  • บุคลากร มก. โอนเงินรายได้หน่วยงาน มก. เข้าบัญชีรายได้ สำนักบริการคอมพิวเตอร์ (B5200/00689/58)
  • โอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารทหารไทย สาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชื่อบัญชี สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (CTEF2015) ประเภท ออมทรัพย์  บัญชีเลขที่ 069-2-57108-6 ส่งแฟกซ์ใบโอนเงิน (Pay in) พร้อมใบสมัครกลับมาที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2562-0957

ติดต่อสอบถามได้ที่
สำนักบริการคอมพิวเตอร์ โทร.0-2562-0951-6 ต่อ
622501, 622555 : สอบถามข้อมูลทั่วไป
622526, 622595 : สอบถามข้อมูลการลงทะเบียน
622592, 622594 : สอบถามข้อมูลด้านวิชาการ
622514 : สอบถามข้อมูลด้านการเงิน
โทรสาร. 0-2562-0957
e-Mail : ctef2015@ku.ac.th

หมายเหตุ: "สำหรับวิทยากรแกนนำสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท." ลงทะเบียนที่ https://goo.gl/3gmJ6y

ผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2558

ผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2558 (IOI2015) ไปแข่งขัน ณ เมืองอัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2558 ดังนี้

ioi2015

(รายชื่อจากซ้ายไปขวา)
1. นาย พีรสิชณ์ เจริญจิตเสรีวงศ์  โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5      
2. นาย ธีมธรรศ จิรนันท์ธวัช        โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย                     ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5      
3. นาย นนทกฤษ ไชยวงศ์          โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์                                ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5      
4. นาย ภูมิรพี ลือนาม                โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา                                 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
พร้อมด้วย
1. ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์  ฝักเจริญผล   คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์                     เป็นหัวหน้าทีม 
2. ดร.ธนาวินท์ รักธรรมานนท์      คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์                      เป็นรองหัวหน้าทีม
3. ดร.ฆนัท ตั้งวงศ์ศานต์             คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร   มหาวิทยาลัยมหิดล   เป็นผู้ช่วยหัวหน้าทีม
4. นางสาววชิรพรรณ  ทองวิจิตร   สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.                                                     เป็นผู้จัดการทีม       

โดยจะออกเดินทางจากประเทศไทย วันที่ 25 กรกฎาคม 2558  ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และผลการแข่งขันได้ที่ http://ioi2015.kz

สื่อประกอบคู่มือครูรายวิชาพื้นฐานสาระเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

สื่อใช้สำหรับประกอบคู่มือครูรายวิชาพื้นฐานสาระเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จัดทำโดย สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.เท่านั้น

โดย “รหัสผ่านจะอยู่ในหน้าคำชี้แจง” ของหนังสือคู่มือครูฯ แต่ละเล่ม ซึ่งในแต่ละชั้นปีจะไม่เหมือนกัน โดยมีให้ดาวน์โหลดดังนี้

  • สื่อประกอบคู่มือครูรายวิชาพื้นฐานสาระเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชั้น ม.1
    (MediaIt-M1.zip :: 51.6 MB)
  • สื่อประกอบคู่มือครูรายวิชาพื้นฐานสาระเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชั้น ม.2
    (mediaM2.rar :: 27.3 MB)
  • สื่อประกอบคู่มือครูรายวิชาพื้นฐานสาระเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชั้น ม.3
    (mediateacherguidem3.rar :: 26.4 MB)

new14new16manualm3

IPST e-Book Store

        สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) พัฒนา IPST e-Book Store ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Android รวบรวม e-Books เกี่ยวกับหนังสือเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์  ครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  มีสื่อมัลติมีเดียประกอบการเรียนรู้ เช่น แอนิเมชั่น วีดิทัศน์ ฯลฯ เพิ่มเติมในเนื้อหาของหนังสือเรียนตามหลักสูตร เพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง และช่วยส่งเสริมการสอน


ipstEbooks
qr-IPST-Ebook
googlePlay

ผู้สนใจดาวน์โหลดฟรีที่ Google Play

ดาวน์โหลด แบบฝึกทักษะการเขียนโปรแกรม scratch เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

ดาวน์โหลด แบบฝึกทักษะการเขียนโปรแกรม scratch เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

 คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลด