Skip to main content

ปัญหาและแนวทางการแก้ไขในการจัดการเรียนการสอนตามกระบวนการสะเต็มศึกษา

           สะเต็มศึกษา (STEM Education) เป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง จากการบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม เพื่อนำไปเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาในชีวิตจริง ซึ่งบุคคลสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ และนำสะเต็มศึกษาไปจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนคือ “ครู” นั่นเอง

           จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมปฏิบัติการ STEM workshop  โดยมีวิทยากรคือ Professor Deborah Hanuscin  ได้มีการให้ผู้เข้ารับการอบรมร่วมกันระดมความคิด ในประเด็นปัญหาการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในปัจจุบัน และเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น  ผู้เขียนจึงกลั่นกรองและสังเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหาดังนี้

1.  ความสับสนในความหมายของสะเต็มศึกษา

แนวทางการแก้ปัญหา จัดให้มีกาารจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยผู้เชี่ยวชาญในด้านสะเต็มศึกษา เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริงและมีตัวอย่างของอาชีพที่ใช้การบูรณาการความรู้ในทุกด้านมาให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ วิศวกร นักออกแบบผลิตภัณฑ์ ดีไซด์เนอร์ นักธุรกิจ

ข้อมูลหรือเครื่องมือสำหรับดำเนินการแก้ปัญหา

  • การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ
  • แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็น และแนวคิดเกี่ยวกับสะเต็มศึกษา
  • แสดงตัวอย่างการเรียนการสอนตามแบบสะเต็มที่ประสบความสำเร็จในระดับชั้นต่างๆ เช่น Engineering is Elementary (EiE)
  • ตัวอย่างบทเรียนสะเต็ม ที่ครูสามารถเข้าใจกระบวนการการจัดการเรียนการสอนได้อย่างง่าย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับบริบทในโรงเรียน

 

2. ความต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุนเพื่อเรียนรู้การจัดการเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษา

แนวทางการแก้ปัญหา สร้างแบบสำรวจ สังเกตการณ์การจัดการเรียนการสอนและให้ผลสะท้อนกลับไปยังกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนที่คล้ายกัน

ข้อมูลหรือเครื่องมือสำหรับดำเนินการแก้ปัญหา

  •  ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษา
  •  บทเรียนหรือแนวทางในการบูรณาการการสอนสะเต็มศึกษา
  •  การสังเกตการณ์การจัดการเรียนการสอน
  •  ข้อมูลการวิเคราะห์ผลการสำรวจเพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือและสนับสนุน

 

3.  ความเข้าใจที่คลาเคลื่อนเกี่ยวกับการเรียนการสอนว่า แบบสะเต็มคือการบูรณาการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงการบูรณาการความรู้ด้านอื่น ๆ เช่น การบริหารจัดการทรัพยากร ศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งในกระบวนการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาที่ดี ควรมีการบูรณาการความรู้สาขาอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์และสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง

แนวทางการแก้ปัญหา จัดให้มีกาารจัดอบรมครูในเชิงปฏิบัติการโดยมีตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนในแบบสะเต็มที่หลากหลาย เน้นให้ครูลงมือปฏิบัติโดยแท้จริง ซึ่งครูจะต้องมีการวางแผนดำเนินงานให้รัดกุม คำนึงถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรด้านเวลา เงินทุน วัสดุ อุปกรณ์ แรงงานคน และต้องคำนึงว่าชิ้นงานและวิธีการที่ผลิตขึ้นมานั้นจะเป็นที่ยอมรับต่อสังคมหรือไม่ เพราะถ้าสังคมไม่ยอมรับ  อาจส่งผลทำให้ผลผลิตที่เกิดขึ้นนั้นตกไป

ข้อมูลหรือเครื่องมือสำหรับดำเนินการแก้ปัญหา

  • การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ
  • เชิญวิทยากรเฉพาะด้านในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ มาบอกเล่าประสบการณ์ การทำงานที่น่าสนใจ เช่น ในกรณีของนักการเงิน การบัญชี นั้นต้องมีการคิดวิเคราะห์ และวางแผนการจัดการด้านการเงินอย่างเป็นระบบ มีการคาดการณ์เศรษฐกิจล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ซึ่งจะต้องศึกษาข้อมูลรอบด้านแล้วนำมาประมวลผล เพื่อทำนายสถานการณ์
  • ให้ครูลงมือปฏิบัติจริง ภายใต้สถานการณ์ที่กำหนด โดยสถานการณ์นั้นจะต้องครอบคลุมการใช้กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมทั้งหมด แล้วสามารถอธิบายขั้นตอนการทำงานได้อย่างเข้าใจ รู้ว่าอะไรเป็นจุดเด่นหรือจุดด้อยของผลงานที่สร้างขึ้น มีอะไรเป็นทรัพยากรที่กำจัด และจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร เช่น สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้จะมีแนวคิดและวิธีการแก้ปัญหาอย่าางไร

4. ผู้ที่ผ่านการอบรมการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาไม่สามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในการเรียนการสอนในห้องเรียน และเผยแพร่ให้กับครูผู้อื่นได้

แนวทางการแก้ปัญหา ส่งเสริมครูผู้นำเป็นตัวอย่าง และเป็นที่ปรึกษาให้กับเพื่อนครูที่อยู่ในโรงเรียนเครือข่ายเดียวกัน

ข้อมูลหรือเครื่องมือสำหรับดำเนินการแก้ปัญหา

         คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ครูต้องพึงมีคือความเป็นผู้นำ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุง พัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถของตัวเอง ซึ่งการฝึกฝนเป็นครูผู้นำ อาจมีแนวทาง 7 ข้อด้วยกัน คือ

1)  ประสานงานและจัดการทั้งงานประจำและกิจกรรมพิเศษ

2)  เลือกและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน

3)  พัฒนาอย่างมืออาชีพกับกลุ่มผู้ร่วมงาน และส่งเสริมให้มีการประเมินกันในกลุ่ม

4)  เข้าร่วมงานในโรงเรียน งานวิจัย และริเริ่มพัฒนา

5)  ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัวนักเรียน

6)  พัฒนาตนเองอยู่เสมอเพื่อให้เป็นครูมืออาชีพ

7)  บริการการศึกษาครู สร้างเครือข่ายในกลุ่มเพื่อนร่วมงาน และมหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมครูอนาคต

 

บทความโดย นางสาวนุศวดี  พจนานุกิจ  นางสาวตรีสุคนธ์ ตรีบุพชาติสกุล และนายสุนทร พรมมงคล นักวิชาการสาขาเทคโนโลยี

เอกสารอ้างอิง

STEM WORKSHOP มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 17 – 20 ธันวาคม 2559 โดย Professor Deborah Hanuscin

ตรีสุคนธ์ ตรีบุพชาติสกุล, นุศวดี พจนานุกิจ, สะเต็มศึกษา, สุนทร พรมมงคล