“โครงงานคอมพิวเตอร์” สะท้อนสมรรถนะการเรียนรู้ด้าน ICT
การสอนแบบโครงงานเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการฝึกปฏิบัติ โดยให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมในปัญหาหรือประเด็นที่นักเรียนสงสัย ด้วยการวางโครงงานและดำเนินการให้สำเร็จตามโครงงานนั้น อาจเป็นโครงงานที่จัดทำเป็นหมู่คณะหรือคนเดียวก็ได้ เพื่อให้นักเรียนรู้จักการทำงานเป็นกลุ่มได้ใช้สติปัญญา ไหวพริบ ความรอบคอบ ความอดทนและความรับผิดชอบ1 การสอนแบบโครงงานจึงเป็นกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่ส่งเสริมให้นักเรียนศึกษาหาคำตอบในประเด็นที่ตนเองสนใจ โดยใช้ทักษะกระบวนการศึกษามีที่ขั้นตอน และใช้รูปแบบวิธีการศึกษาหาความรู้ที่หลากหลาย ดังนั้น “โครงงาน” ก็อาจเป็นภาพสะท้อนผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของนักเรียนได้เช่นเดียวกัน ปัจจัยเกื้อหนุนให้การสอนแบบโครงงานให้ประสบความสำเร็จได้ก็คือ “ครู” ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในทุกขั้นตอนของการทำโครงงาน ครูควรกระตุ้นและอำนวยความสะดวกในการทำงานให้แก่นักเรียนด้วยวิธีการที่หลากหลาย เสนอแนะแหล่งข้อมูลและแหล่งความรู้ในการศึกษาค้นคว้า ตลอดจนตรวจการเขียนรายงานโครงงานให้นักเรียนอย่างละเอียด
ฐานะครูผู้สอนโครงงานคอมพิวเตอร์จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำนักเรียนในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกหัวข้อโครงงานที่สนใจ แม้นักเรียนจะนำเสนอประเด็นหัวข้อที่ตนเองสนใจศึกษา แต่ครูจะต้องให้ข้อคิดในการตัดสินใจแก่นักเรียนว่า การเลือกหัวข้อที่จะนำมาพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์ควรพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น นักเรียนควรมีความรู้และทักษะพื้นฐานอย่างเพียงพอในประเด็นหัวข้อที่ต้องการศึกษา สามารถจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องได้เพียงใด ระยะเวลาในการพัฒนาโครงงานมีเพียงพอหรือไม่ รวมไปถึงการใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม เป็นต้น ครูควรจะเน้นย้ำให้นักเรียนตระหนักว่าองค์ประกอบข้างต้นนี้จะเป็นตัวช่วยบ่งชี้ว่าการพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์ของนักเรียนสัมฤทธิ์ผลเพียงใด
“การเขียนรายงาน” เป็นขั้นตอนหนึ่งที่ครูควรแนะนำให้นักเรียนใส่ใจและตระหนักว่า การเขียนรายงานเป็นการสื่อความหมายให้ผู้อื่นได้เข้าใจแนวคิดในการพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์ของตนเอง ควรใช้ภาษาให้ถูกต้อง อ่านง่าย ชัดเจน กระชับ ครอบคลุมทุกหัวข้อของการเขียนรายงานและอ้างอิงแหล่งข้อมูลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้มากขึ้น
นักเรียนร่วมปรึกษาหารือปฏิบัติโครงงานโครงงาน
ในพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์ต้องมีการวัดและประเมินผล ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่สะท้อนให้ทราบว่า นักเรียนเกิดการเรียนรู้หรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ครูควรจะทำความเข้าใจและตกลงร่วมกันกับนักเรียนเกี่ยวกับเกณฑ์การวัดและประเมินผลก่อนเริ่มขั้นตอนการพัฒนาโครงงาน โดยแจ้งให้นักเรียนทราบว่าการวัดและประเมินผลจะเริ่มตั้งแต่ก่อนลงมือทำกิจกรรม กระบวนการทำงานตามแผนที่วางไว้และผลสำเร็จของงาน ตลอดจนจะประเมินการแก้ไขปัญหาหรือข้อบกพร่อง รวมถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานจนสิ้นสุดการปฏิบัติงาน การประเมินจะประเมินตามที่ตกลงกันไว้และจะไม่นำผลงานมาเปรียบเทียบกัน เนื่องจากโครงงานคอมพิวเตอร์ของนักเรียนเกิดจากประเด็นหัวข้อที่นักเรียนสนใจใคร่รู้ที่แตกต่างกัน และจะแจ้งผลย้อนกลับแก่นักเรียน เพื่อให้นำผลประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาต่อไป ทั้งนี้อาจจะใช้หลักการประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ต้องการให้นักเรียนเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ พุทธพิสัย จิตพิสัยและทักษะพิสัย
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “โครงงานคอมพิวเตอร์” เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะช่วยให้นักเรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ 5 สมรรถนะตามหลักสูตรแกนกลาง คือ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิตและความสามารถในการใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ยังจะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเป็นบุคคลที่ใฝ่เรียนใฝ่รู้ ตลอดจนเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรมของผู้ใช้งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น ไม่คัดลอกโปรแกรมที่มีลิขสิทธิ์ ไม่การละเมิดการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์โดยที่ตนเองไม่มีสิทธิ์ ไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง ผลงานที่ได้ต้องไม่สร้างความเสียหายต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวนี้เมื่อนักเรียนนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันในภายหน้า จะช่วยให้นักเรียนดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ยกร่างบทความโดย นายกำพล วิลยาลัย โรงเรียนบรมราชินีนาถราชวิทยาลัย จ.ราชบุรี
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.
บรรณานุกรม
[1] ศุภรัตน์ พรหมทอง (2553) . การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
http://supatat-project.blogspot.com/p/blog-page.html. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558.
[2] ณัฎฐ์ชรินทร์ ตลอดพงศ์ (2552) . ครูมืออาชีพกับวิธีการสอนแบบโครงงาน [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
http://www.sahavicha.com/?name=article&file=readarticle&id=731.
สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2558.