Skip to main content

Tag: อินเทอร์เน็ต

Internet of Things (IoT): เมื่อทุกสิ่งอิงกับอินเทอร์เน็ต

          ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก ไม่ว่าเราจะทำอะไร อยู่ที่ไหน สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรามักจะเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตอยู่เสมอ  จึงอาจเปรียบอินเทอร์เน็ตเป็นดังสายลมที่อยู่รอบๆ ตัวเรา แล้วเราล่ะ จะเตรียมรับมือกับมันได้อย่างไร ถ้าหากเรานิ่งเฉย ไม่สนใจจะใช้ประโยชน์จากมัน เราอาจจะพลาดความสะดวกสบายบางอย่างในชีวิตไป หน้าที่ของเราคือ ทำความเข้าใจว่าเราจะใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและผู้อื่น 

          Internet of Things [1] คือ สภาพแวดล้อมที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆ มีการถ่ายโอนข้อมูลร่วมกันผ่านเครือข่าย โดยไม่จำเป็นต้องใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับคอมพิวเตอร์  ซึ่ง Internet of Things พัฒนามาจากเทคโนโลยีไร้สาย (wireless technology) ระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค (micro-electromechanical systems : MEMS) และอินเทอร์เน็ต ซึ่งคำว่า Things ใน Internet of Things นั้น หมายถึง อุปกรณ์ต่างๆ ที่อ้างอิงได้ด้วยเลขไอพี (IP address) และมีความสามารถในการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างกันได้ผ่านเครือข่าย สรุปให้เข้าใจง่ายๆ Internet of Things ก็คือ เทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นั่นเอง

          เราก็ได้ทราบนิยามของ Internet of Things กันไปแล้ว เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นเรามาดูตัวอย่างอุปกรณ์ธรรมดาๆ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน แต่เมื่อมี Internet of Things เข้ามาแล้ว มันจะไม่ธรรมดาอีกต่อไป เช่น

ตู้เย็นอัจฉริยะ มีตัวตรวจจับจำนวนสิ่งของต่างๆ ในตู้ เมื่ออาหารในตู้เย็นใกล้จะหมดอายุหรือสิ่งใดหมด จะมีข้อความแจ้งเตือนไปยังสมาร์ทโฟนให้เราสั่งซื้อของได้

image001 image002
รูปที่ 1  ตู้เย็นอัจฉริยะ [2]

เครื่องซักผ้าอัจฉริยะ เครื่องซักผ้าสามารถรายงานสถานการณ์ทำงานของเครื่องไปยังสมาร์ทโฟนได้ กรณีที่เราใช้เครื่องซักผ้าในขณะที่เราไม่อยู่บ้าน สามารถตั้งค่าเครื่องซักผ้าในโหมดพิเศษโดยเมื่อเครื่องซักผ้าเสร็จแล้วเครื่องจะปั่นผ้าเบาๆ ทุกสองนาที เพื่อให้มีอากาศไหลผ่าน ช่วยให้ผ้าไม่อับชื้น และเมื่อเรากลับถึงบ้าน เครื่องซักผ้าจะตรวจจับได้ว่าเรากลับบ้านแล้ว เครื่องซักผ้าจะจบการทำงานและแจ้งเตือน [3]

image003image004
รูปที่ 2 เครื่องซักผ้าอัจฉริยะ

นาฬิกาอัจฉริยะ มีความสามารถมากกว่าใช้ดูเวลาเท่านั้น เช่น ถ่ายรูป บันทึกวิดีโอ รับ-ส่งอีเมล จับเวลา นับก้าวเดิน คำนวณระยะและพลังงานที่ร่างกายใช้นอกจากนี้ยังใช้เป็นรีโมตคอนโทรลของโทรทัศน์ ได้อีกด้วย[4]

image005 image006 image007
รูปที่ 3 นาฬิกาอัจฉริยะ

            นอกจากอุปกรณ์เหล่านี้[5] ก็ยังมีการใช้งานในรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น การจอดรถในห้างสรรพสินค้าที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับที่ว่างแล้วแสดงผลให้ลูกค้าทราบ ในทางการแพทย์ใช้ในการวิเคราะห์ ตรวจสอบอาการของคนไข้ผ่านอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ที่บ้านของคนไข้ จากผลสำรวจแนวทางการนำ Internet of Things[6] ไปใช้โดยสำรวจจากการค้นหาใน Google การแชร์ผ่าน Twitter และ Linkedin ดังรูปที่ 4 หัวข้อที่พบมากที่สุดคือ Smart Home หรือ ระบบบ้านอัจฉริยะ สำหรับในประเทศไทยนั้น หัวข้อที่น่าจะใกล้ตัวเรามากที่สุด ก็คงจะเป็น Wearable  ซึ่งเป็นกลุ่มอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับสวมใส่บนร่างกาย เช่นนาฬิกาอัจฉริยะ นั่นเอง   


รูปที่ 4 ผลสำรวจการประยุกต์ใช้งาน Internet of Things ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด

          จะเห็นได้ว่า สมัยนี้อะไรๆ ก็เป็น Smart ทั้งนั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการนำ Internet of Things มาใช้กับสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา แล้วถ้าเรานำคำว่า “Smart” มานำหน้าคำว่า “School” บ้างล่ะ ก็จะเป็น “Smart School” หรือโรงเรียนอัจฉริยะ แล้วโรงเรียนแบบนี้จะมีลักษณะพิเศษอย่างไร จะสามารถนำแนวคิดของ Internet of Things มาใช้ในโรงเรียนได้อย่างไรบ้าง

           การนำ Internet of Things มาใช้ในโรงเรียนนั้น ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันกับเทคโนโลยีคลาวด์ (cloud technology) และ อาร์เอฟไอดี(radio frequency identification:RFID) ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการในโรงเรียน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน [7] ดังนี้

image009
รูปที่ 5 การใช้งาน Mobile Learning ในโรงเรียน [8]      

  1. การจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองทุกที่ทุกเวลาด้วยระบบ Mobile Learning ผู้เรียนสามารถเข้าถึงบทเรียนได้ผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต เพื่อศึกษาเนื้อหาและอ่านทบทวนสร้างความเข้าใจของตนเองได้ตามที่ต้องการในด้านการทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนมอบหมาย ระบบจะมีการบันทึกคะแนนของผู้เรียนจากการทำกิจกรรมหรือแบบฝึกหัดต่างๆ ผ่านระบบคลาวด์ ช่วยลดภาระของผู้สอนในการประเมินผู้เรียนและอำนวยความสะดวกในการเตรียมเอกสารประกอบการเรียน ทั้งนี้ยังสามารถใช้สื่อสังคมออนไลน์มาช่วยในการอภิปรายแสดงความคิดเห็นหรือแบ่งปันข้อมูลได้อีกด้วย ซึ่งโรงเรียนจะต้องให้ความสำคัญเรื่องความเร็วและความปลอดภัยในการเข้าถึงระบบเครือข่ายของโรงเรียน
  2. การดำเนินงาน ให้ติดแท็ก RFID ในอุปกรณ์และทรัพยากรต่างๆ เช่น เครื่องฉายภาพ (projectors) จะช่วยให้ง่ายต่อการติดตาม ลดปัญหาอุปกรณ์สูญหาย ช่วยในการวางแผนจัดการ และตรวจสอบได้อย่างทันทีทันใด เมื่ออุปกรณ์ชิ้นใดชำรุดสามารถแจ้งซ่อมทันทีได้ผ่านสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ยังช่วยลดเวลาในการตรวจสอบว่านักเรียนมาเรียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมครบหรือไม่     ด้วยการติดแท็ก RFID ที่กระเป๋านักเรียน เมื่อนักเรียนเดินผ่านเครื่องสแกนก็จะเป็นการเช็คชื่อโดยอัตโนมัติ[9]

image010
รูปที่ 6 แท็ก RFID

  1. การรักษาความปลอดภัย โดยติดตั้งระบบ GPS (Global Positioning System)  กับรถโรงเรียนจะมีการแจ้งเตือนมายังสมาร์ทโฟนของผู้ปกครอง เมื่อรถโรงเรียนเดินทางมาใกล้จะถึงบ้านของนักเรียนแล้ว จะมีการแจ้งเตือนมายังสมาร์ทโฟน เพื่อให้เตรียมตัวขึ้นรถ  เมื่อนักเรียนขึ้นรถแล้ว ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบได้ว่าตอนนี้บุตรหลานของท่านอยู่ที่ใด นอกจากนี้ยังมีการใช้ ID Card หรือสายรัดข้อมือ  ในการตรวจสอบผู้ที่เข้ามาในเขตโรงเรียนเพื่อป้องกันคนแปลกปลอมเข้ามาในเขตโรงเรียน และยังใช้แทนเงินสดสำหรับซื้อของในโรงเรียนได้อีกด้วย[10]

image011 
รูปที่ 7 ตัวอย่าง ID Card นักเรียน     

            จะเห็นได้ว่า Internet of Things มีประโยชน์ในหลายๆด้าน ช่วยอำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนบางอย่างในชีวิตประจำวันของเราได้  ในอนาคตเราจะสามารถควบคุมการทำงานของสิ่งของทุกๆ อย่างรอบตัวได้ง่ายๆ ผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต เรียกได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในกำมือเลยก็ว่าได้ แต่สิ่งที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือความปลอดภัยในการใช้งาน ถ้าหากมิจฉาชีพเข้าถึงระบบควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ได้ ก็อาจสร้างความเสียหายต่อเราเป็นอย่างมาก ดังนั้นเราจึงต้องเข้าใจวิธีการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างปลอดภัย

             เรื่องพื้นฐานที่ควรคำนึงถึงก็คือ การตั้งรหัสผ่านให้มีความปลอดภัยสูง คาดเดายาก โดยสามารถตรวจสอบได้ว่ารหัสผ่านที่เราใช้อยู่นั้นสามารถคาดเดาได้ง่ายหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ https://howsecureismy password.net/  ถ้าพบว่ารหัสผ่านที่ใช้อยู่เป็นรหัสที่สามารถคาดเดาได้ก็คงถึงเวลาเปลี่ยน ซึ่งควรจะตั้งรหัสผ่านให้มีความยาวพอสมควรและเป็นรหัสที่สามารถจดจำได้ง่าย สามารถศึกษารายละเอียดการตั้งรหัสผ่านอย่างปลอดภัยได้ที่บทความเรื่อง การตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัย [11] นอกจากนี้ ควรจะตั้งค่าความปลอดภัยของระบบด้วย เช่น การกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึง การกำหนดจำนวนครั้งในการใส่รหัสผิด เพียงเท่านี้เราก็สามารถนำ Internet of Things มาช่วยอำนวยความสะดวกและใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย

 

ยกร่างบทความโดย นางสาววชิรพรรณ ทองวิจิตร
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาวิชาเทคโนโลยี สสวท.

อ้างอิง

  1. Margaret Rouse. Internet of Things (IoT) definition. [Online],
        Available: http://internetofthingsagenda.techtarget.com/definition/Internet-of-Things-IoT  [2016, Jan 25]
     
  2. Rich Brown. 2016. Touchscreen refrigerators and talking everything at CES 2016.[Online],
        Available: http://www.cnet.com/news/touchscreen-refrigerators-and-talking-everything-at-ces-2016/
                       [2016, Jan 26]
     
  3. How – to greek. 2015. What is a “Smart Washer”, and Do I Need One? [Online],
        Available: http://www.howtogeek.com/236286/what-is-a-smart-washer-and-do-i-Need-one/ [2016, Jan 25]
     
  4. Samsung. 2014. Gear 2. [Online],
        Available: http://www.samsung.com/th/consumer/mobile-devices/wearables/gear/SM-R3800VSATHO
                       [2016, Jan 26]
     
  5. ศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. The Internet of Things. [ออนไลน์],
        เข้าถึงจาก :http://its.sut.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=72&Itemid=468
                       [2559, มกราคม 26]
     
  6. IOT Analytics. 2015. The 10 most popular Internet of Things applications right now. [Online],
        Available: http://iot-analytics.com/10-internet-of-things-applications/ [2016, Jan 26]
     
  7. Zebra Technologies. How the Internet of Things Is Transforming Education. [Online],
        Available: http://www.zatar.com/sites/default/files/content/resources/Zebra_Education-Profile.pdf [2016, Jan 26]
     
  8. Thor Prichard. Envisioning the Future of Mobile Learning. [Online],
        Available: https://www.clarity-innovations.com/blog/tprichard/envisioning-future-mobile-learning [2016, Jan 27]
     
  9. Jonathan Bloom. 2015. Q&A: Scanning Away Food Waste? [Online],
        Available: http://www.wastedfood.com/2015/09/15/qa-scanning-away-food-waste/ [2016, Jan 27]
     
  10. Smart Tech Production. Student ID. [Online],
         Available: http://smarttech.com.hk/d/student-id [2016, Jan 27]
     
  11. พนมยงค์ แก้วประชุม. 2557. การตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัย. [ออนไลน์], 
         เข้าถึงจาก : http://oho.ipst.ac.th/secure-password/ [2559, มกราคม 27]

ชุดอบรมครูโดยการศึกษาด้วยตนเองและคู่มือจัดการเรียนรู้

จรรยาบรรณสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีเป็นจำนวนมาก  และเพิ่มขึ้นทุกวัน  การใช้งานระบบเครือข่ายที่ออนไลน์และส่งข่าวสารถึงกันย่อม มีผู้ ที่มีความประพฤติไม่ดีปะปน และสร้างปัญหาให้กับผู้ใช้อื่นอยู่เสมอ หลายเครือข่ายจึงได้ออกกฏเกณฑ์การใช้งานภาย ในเครือข่าย เพื่อให้สมาชิกในเครือข่ายของตนยึดถือและปฏิบัติตามการสร้างกฏเกณฑ์ก็เพื่อให้สมาชิกโดยส่วนรวมได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่เกิดปัญหาจากผู้ใช้บางคนที่สร้างความเดือดร้อนให้   

    

           ดังนั้นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนที่เป็นสมาชิกเครือข่ายจะต้องเข้าใจกฏเกณฑ์ข้อบังคับ ของเครือข่ายนั้นมี ความรับผิด ชอบต่อตนเองและผู้ร่วมใช้บริการคนอื่นและจะต้อง รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองที่เข้าไปขอใช้บริการต่าง ๆ บน เครือข่ายบน ระบบคอมพิวเตอร์

 

          เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเรียกเข้ามิได้เป็นเพียงเครือข่ายขององค์กร ที่ผู้ใช้สังกัดอยู่ แต่เป็นการเชื่อม โยงของเครือข่ายต่าง ๆ เข้าหากันหลายพันหลายหมื่นเครือข่ายมีข้อมูลข่าวสารวิ่ง อยู่ระหว่างเครือข่ายเป็นจำนวนมาก  การ ส่งข่าวสาร ในเครือข่ายนั้นอาจทำให้ข่าวสารกระจายเดินทางไปยังเครือข่ายอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่การส่ง จดหมาย อิเล็กทรอนิกส์ฉบับหนึ่ง ก็อาจจะต้องเดินทางผ่านเครือข่ายอีกหลายเครือข่ายกว่าจะถึงปลายทาง ดังนั้นผู้ใช้บริการ อินเทอร์เน็ต ต้องให้ความสำคัญ และตระหนักถึงปัญหาปริมาณข้อมูลข่าวสารที่วิ่งอยู่บนเครือข่าย

          ในฐานะที่เป็นผู้ใช้งาน คุณได้รับสิทธิ์ให้เข้าใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต  แต่อย่างไรก็ดีจะต้องเข้าใจ   กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่แต่ละ เครือข่ายย่อยวางไว้ด้วย  ไม่พึงละเมิดสิทธิ์หรือกระทำการใด ๆ ที่สร้างปัญหา หรือไม่เคารพกฎเกณฑ์ที่แต่ละ เครือข่ายวางไว้  และจะต้องปฏิบัติตาม คำแนะนำของผู้บริหารเครือข่ายย่อย ๆ นั้นอย่างเคร่งครัด

 

            การใช้งานอย่างสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์จะทำให้สังคมอินเทอร์เน็ตน่าใช้และเป็นประโยชน์  ร่วมกันอย่างดี กิจกรรม บางอย่างที่ไม่ควรปฏิบัติจะต้องหลีกเลี่ยงเช่น การส่งกระจายข่าวลืม ไปเป็นจำนวนมากบนเครือข่าย การกระจาย ข่าวแบบส่ง กระจาย ไปยังปลายทางจำนวนมาก การส่งเอกสารจดหมายลูกโซ่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะเป็นผลเสียโดยรวมต่อผู้ใช้ และไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อสังคมอินเทอร์เน็ต

           เพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมอินเทอร์เน็ตสงบสุข  จึงมีผู้พยายามรวบรวมกฎกติกามารยาท  และวางเป็นจรรยา บรรณอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า Netiquette

           ข้อมูลและข้อความในเรื่องจรรยาบรรณอินเทอร์เน็ตนี้   ได้เรียบเรียงมาจากบทความบนเครือข่าย  อินเทอร์เน็ตของ มหาวิทยาลัยฟอร์ริดาแอตแลนติก  โดยผู้รวบรวมชื่อ Arlene  H.Rinaldi  นอกจากนี้ยังได้ รวบรวมจากข้อคิดเห็น และการ เสนอ ข่าวในยูสเน็ตนิวส์

 

          ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนมีเมล์บ็อกซ์หรืออีเมล์แอดเดรสที่ใช้อ้างอิงในการรับส่งจดหมาย  ความรับผิดชอบต่อการใช้งานอีเมล์ในระบบจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ เพราะจดหมายมีการรับส่ง โดยระบบ ซึ่งหากมีจดหมายค้าง ใน ระบบจำนวนมากจะทำให้พื้นที่บัฟเฟอร์ของจดหมายในระบบหมด  จะเป็นผลให้ระบบ ไม่สามารถรับส่งจดหมายต่อไปได้ หลายต่อหลายครั้งระบบปฏิเสธการรับส่งจดหมายเพราะไฟล์ระบบเต็ม หากวิเคราะห์ต่อไปพบว่าไฟล์ที่เป็นบัฟเฟอร์ของ mbox ที่ยังไม่ได้เก็บออกเป็นส่วนหนึ่งของไฟล์ระบบ หรือหากมีผู้ใดผู้หนึ่งส่งเมล์ที่มีขนาดใหญ่มากและเข้าไป ในระบบ เดียวกันพร้อมกันหลาย ๆ คน (ส่งแบบกระจาย) ก็จะทำให้ระบบหยุดการทำงานได้เช่นกัน พึงระลึกเสมอว่าเครื่องที่เก็บ mbox ของแต่ละคนมิได้มีผู้ใช้เพียงไม่กี่คน แต่อาจมีเป็นพันคน เป็นหมื่นคนดังนั้นระบบอาจมีปัญหาได้ง่าย

 

          ความรับผิดชอบในการดูแลตู้จดหมาย (mbox) ของแต่ละคนควรจะมีความรับผิดชอบต่อสิ่งต่อไปนี้

 

        ตรวจสอบจดหมายทุกวัน และจะต้องจำกัดจำนวนไฟล์และข้อมูลในตู้จดหมายของตนให้เลือกภายในโควต้า ที่กำหนด ลบข้อความหรือจดหมายที่ไม่ต้องการแล้วออกจากดิสต์เพื่อลดปริมาณการใช้ดิสต์ ให้จำนวนจดหมายที่อยู่ในตู้จดหมาย (mbox) มีจำนวนน้อยที่สุด ให้ทำการโอนย้ายจดหมายจากระบบไปไว้ยังพีซี  หรือฮาร์ดดิสต์ของตนเองเพื่อใช้อ้างอิงในภายหลังพึงระลึกเสมอว่าจดหมายที่เก็บไว้ในตู้จดหมายนี้อาจถูกผู้อื่นแอบอ่านได้ ไม่ควรเก็บ ข้อมูลหรือจดหมายที่คุณคิด ว่าไม่ใช้แล้ว เสมือนเป็นประกาศไว้ในตู้จดหมาย

         เมื่อผู้ใช้ได้บัญชีชื่อในโอสก็จะได้รับสิทธิ์ให้ใช้พื้นที่ดิสต์ ซึ่งเป็นพื้นที่เฉพาะที่เรียกว่าโฮมไดเรกทอรีตามโควต้าที่ กำหนด  ดังนั้นความรับผิดชอบของผู้ใช้ต่อพื้นที่ดิสต์  จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก เพราะพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ใช้ ร่วมกัน เช่น ในโอสแห่งหนึ่งมีผู้ใช้ร่วมกันสามพันคน ถ้ากำหนดให้คนละสามเมกะไบต์ก็จะต้องใช้พื้นที่ถึง 9 จิกะไบต์ แต่โดยความเป็นจริงแล้วโฮสมีพื้นที่ไม่ถึงเพราะถือว่าค่าเฉลี่ยของการใช้อาจจะอยู่ที่ 1 เมกะไบต์ ดังนั้นถ้าทุกคนใช้พื้นที่ พอเหมาะและเก็บไฟล์ที่ไม่ใช้ออกก็จะทำให้ระบบมีพื้นที่ รองรับการใช้งานได้มาก สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความรับผิดชอบร่วม กัน  หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ใช้จึงควร

 

        กำหนดให้ไฟล์ในโฮมไดเรกทรอรีของตนมีจำนวนต่ำที่สุด ไฟล์ต่างควรได้รับการดาวน์โหลดมายังพีซีของตน ในการคัดลอกไฟล์จากของตนไปให้ผู้อื่นหรือนำไฟล์จากอินเทอร์เน็ตมายังเครื่องของตน ควรจะได้หมั่นทำการ สแกนตรวจสอบไวรัส เพื่อว่าจะได้ช่วยกันลดการกระจายของไวรับลงไป  พึงระลึกเสมอว่าไฟล์ของคุณที่เก็บไว้ในเครื่องนั้นอาจได้รับการตรวจสอบโดยผู้ที่มีสิทธิ์สูงกว่าคุณ ดังนั้นจึงไมีควรเก็บไฟล์ที่เป็นเรื่องลับเฉพาะไว้บนเครื่องให้บริการ

 

——————————————————————————–

 

Telnet    

          เป็นคำสั่งบนอินเทอร์เน็ตที่ยอมให้ผู้ใช้เรียกติดต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นที่อยู่บนเครือข่าย ผู้ใช้มีอิสระ ในการเรียกคำสั่ง telnet เพื่อต่อไปยังเครื่องต่าง ๆ ได้ทั่วโลกแต่การที่จะเข้าไปใช้ในเครื่องใดจะต้องยึดถือข้อปฏิบัติกฎ ระเบียบ ดังต่อไปนี้

 

          ใช้กับเครื่องที่เปิดเป็นสาธารณะที่ให้ใช้ได้ หรือเครื่องที่คุณมีสิทธิ์หรือได้รับอนุญาตใช้ได้  จะต้องไม่ละเมิดโดย การแอบขโมยสิทธิ์ผู้อื่นนำไปใช้โดยเด็ดขาด เช่นใช้บัญชีและรหัสผ่านของผู้อื่น เครื่องที่ต่อรับ telnet ส่วนใหญ่จะมีระเบียบและกฎเกณฑ์เฉพาะเครื่อง คุณควรทำความเข้าใจโดยการศึกษา ข้อกำหนด โดยเฉพาะเมื่อ login  เข้าไปจะมีข้อความและคำชี้แจงบางอย่างให้อ่านและปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ในการเข้าไปยังเครื่องด้วย telnet จะต้องรีบปฏิบัติงานและใช้ด้วยเวลาจำกัดเมื่อเสร็จธุระแล้วให้รีบ logout ออก จากระบบ เพราะการทำงานแต่ละครั้งย่อมต้องใช้กำลังของเครื่องเสมอ ข้อมูลที่ปรากฏบนจอภาพ หรือข้อมูลที่คุณต้องการคัดลอกมาเก็บไว้ยังเครื่องของคุณ หรือฮาร์ดดิสบนพีซีของคุณ

 

——————————————————————————–

FTP     

          สังคมอินเทอร์เน็ตเป็นสังคมที่คอยช่วยเหลือกัน และดำเนินการบริการให้กับผู้ใช้ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะมีแหล่ง ข้อมูลและโปรแกรมเป็นจำนวนมากเก็บไว้ในศูนย์บริการ ftp ศูนย์บริการเครือข่ายเป็นจำนวนมากเป็นศูนย์บริการ สาธารณะแบบ anonymous ที่ยินยอมให้ใครก็ได้เข้ามาขอใช้บริการคัดลอกข้อมูลและเข้ามาเวลาใดก็ได้ การเรียกใช้ ftp จึงควรปฏิบัติตนดังนี้

 

          เมื่อเข้าสู่ศูนย์ ftp และป้อนชื่อผู้ใช้เป็น anonymous  จะต้องใช้ชื่ออีเมล์แอดเดรสตามข้อ กำหนดของแต่ละศูนย์  การให้อีเมล์แอดเดรสก็เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงที่บอกได้ว่าผู้ใช้ บริการมี  ตัวตนและอ้างอิงได้ การคัดลอกแฟ้ม ควรเลือกเฉพาะที่ใช้งานจริงเท่านั้น  ไม่ควรคัดลอกแบบไม่มีการคัดเลือก เพราะจะสร้างปัญหาใน เรื่องการสื่อสารมาก ในกรณีที่ต้องการคัดลอกไฟล์ขนาดใหญ่กว่า 1 ล้านตัวอักษร ควรเลือกเวลาที่เป็นช่วงเวลา นอกราชการ เช่น ตอนเย็น หรือ กลางคืน การเลือกเวลา ftp ในช่วงเวลานอกงานนั้นให้ดูเวลาที่ศูนย์ ftp เป็นหลักไม่ใช่เวลาที่ต้นทางที่คุณทำงานอยู่ คัดลอกแฟ้มมาเก็บไว้ในเครื่องของคุณตามขอบเขตของโควต้าที่อนุญาตให้คุณควรรับผิดชอบด้วยการถ่ายโอนมา ยังฮาร์ดดิสต์บนพีซีของคุณ เมื่อต้องการหาชื่อไฟล์หรือสอบถาม Archie ให้สอบถามเป็นอีเมล์ เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของคุณในกรณีที่คัดลอกไฟล์มาให้ตรวจสอบว่าไฟล์ที่คัดลอกมามีข้อตกลงทางด้าน ลิขสิทธิ์อย่างไร  ไม่ควรละเมิดสิขสิทธิ์ถ้าเจ้าของไม่อนุญาตและโปรแกรมใดก็ตามที่ไม่ได้ใช้ให้ลบออกจาก ระบบของคุณ

 

——————————————————————————–

IRC    

          บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีคำสั่งให้ใช้ในการโต้ตอบกันอย่างออนไลน์ หลายคำสั่งเช่น write, talk หรือมีการสนทนา เป็นกลุ่มเช่น irc เป็นต้น ในการเรียกหาหรือเปิดการสนทนา ตลอดจนการสนทนาจะต้องมีมารยาทที่สำคัญได้แก่

 

         ควรเรียกสนทนาจากผู้ที่เรารู้จักและต้องการสนทนาด้วย  หรือมีเรื่องสำคัญที่จะติดต่อด้วย  ควรระลึกเสมอว่าการ ขัดจังหวะผู้อื่นที่กำลังทำงานอยู่อาจสร้างปัญหาให้ได้

          ก่อนการเรียกคู่สนทนาควรสอบสถานะการใช้งานของคู่สนทนาที่ต้องการเรียก เพราะการเรียกแต่ละครั้งจะ มีข้อความไปปรากฏบนจอภาพของฝ่ายถูกเรียกซึ่งก็สร้างปัญหาการทำงานได้  เช่น ขณะกำลังทำงานค้าง ftp ซึ่งไม่สามารถหยุดได้

          หลังจากเรียกไปชั่วขณะคู่ที่ถูกเรียกไม่ตอบกลับ แสดงว่าคู่สนทนาอาจติดงานสำคัญ ขอให้หยุดการเรียกเพราะ ข้อความที่เรียกไปปรากฏบนจออย่างแน่นอนแล้ว

          ควรให้วาจาสุภาพ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน การแทรกอารมณ์ขัน ควรกระทำกับคนที่รู้จักคุ้นเคยแล้วเท่านั้น

 

——————————————————————————–

BBS   

          ระบบข่ายสารที่ให้บริการในสังคมอินเทอร์เน็ตมีหลายระบบ เช่นยูสเน็ตนิสว์  ระบบสมาชิกแจ้งข่าวหลายสมาคม บอกรับสมาชิกและให้ข่าวสารที่สม่ำเสมอกับสมาชิกด้วยการส่งเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า Mailing  lists ผู้เสนอ ข่าวและผู้อภิปรายเรื่องต่าง ๆ ที่เขียนลงไปจะกระจายออกไปทั่วโลก เช่นข่าวบนยูสเน็ตนิวส์แต่ละกลุ่มเมื่อส่งออก จะกระจาย ไปยังเซิร์ฟเวอร์อื่น ๆ ทั่วโลก ผู้ใช้บริการโดยเฉพาะที่ต้องการเขียนข่าวสารบนกระดาษข่าวจะต้องเคารพกฏกติกามารยาท โดยเคร่งครัด  ข้อปฏิบัติที่สำคัญได้แก่

 

          ให้เขียนเรื่องให้กระชับ ข้อความควรสั้นและตรงประเด็กไม่กำกวม ใช้ภาษาที่เรียบงาน สุภาพเข้าใจได้ ในแต่ละเรื่องที่เขียนให้ตรง โดยข้อความที่เขียนควรจะมีหัวข้อเดียวต่อเรื่อง ในการเขียนพาดพิงถึงผู้อื่น ให้ระมัดระวังในการละเมิด หรือสร้างความเสียหายให้ผู้อื่น การให้อีเมล์อาจตรง ประเด็นกว่า ให้แหล่งที่มาของข้อความ ควรอ้างอิงแหล่งข่าวได้ ไม่เรียกว่าโคมลอยหรือข่าวลือ หรือเขียนข่าวเพื่อความสนุก โดยขาดความรับผิดชอบ

          จำกัดความยาวของข่าว และหลีกเลี่ยงตัวอักษรควบคุมพิเศษอื่น ๆ เพราะหลายเครื่องที่อ่านข่าวอาจมีปัญหาในการ แสดงผล ข่าวบางข่าวมีการกระจายกันมาเป็นลำดับให้  และอ้างอิงต่อ ๆ กันมา การเขียนข่าวจึงควรพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่าส่งจดหมายตอบโต้ไปยังผู้รายงานข่าวผู้แรก ไม่ควรให้เครือข่ายของมหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ทางการค้า หรืองานเฉพาะของตนเพื่อประโยชน์ส่วนตน ในเรื่อง การค้า

          การเขียนข่าวทุกครั้งจะต้องลงชื่อ และลายเซนต์ตอนล่างของข้อความเพื่อบอกชื่อ  ตำแหน่งแอดเดรสที่อ้างอิงได้ ทางอินเทอร์เน็ต หรือให้ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ ในการทดสอบการส่งไม่ควรทำพร่ำเพื่อการทดสอบควรกระทำในกลุ่มข่าวท้องถิ่นที่เปิดให้ทดสอบการส่งข่าวอยู่ แล้ว เพราะการส่งข่าวแต่ละครั้งจะกระจายไปทั่วโลก

          หลีกเลี่ยงการใช้ตัวอักษรใหญ่ ตัวอักษรใหญ่ที่มีความหมายถึงการตะโกน หรือการแสดงความไม่พอใจ ในการเน้น คำให้ใช้เครื่องหมาย * ข้อความ* แทน ไม่ควรนำข้อความที่ผู้อื่นเขียนไปกระจายต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของเรื่อง ไม่ควรใช้ข้อความตลกขบขันหรือคำเฉพาะ คำกำกวม หรือคำหยาบคายในการเขียนข่าว ให้ความสำคัญในเรื่องลิขสิทธิ์  ไม่ควรละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น ไม่ควรคัดลอกข่าวจากที่อื่น เช่นจากหนังสือพิมพ์ทั้งหมดโดยไม่มีการสรุปย่อและเมื่อส่งข่าวย่อจะต้องอ้างอิงที่มา ไม่ควรใช้กระดานข่าวเป็นที่ตอบโต้หรือละเมิดผู้อื่น

เมื่อต้องการใช้คำย่อ คำย่อที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป เช่น

       – IMHO-in  my  humble /  honest  opinion

       – FYI-for  your  information

       – BTW-by  the  way

          การเขียนข้อความจะต้องไม่ใช้อารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัว และระลึกเสมอว่าข่าวที่เขียนหรืออภิปลายนี้ กระจาย ไปทั่วโลก  และมีผู้อ่านข่าวจำนวนมาก ในการเขียนคำถามลงในกลุ่มข่าว จะต้องส่งลงในกลุ่มที่ตรงกับปัญหาที่เขียนนั้น  และเมื่อจะตอบก็ต้องให้ตรง ประเด็น ในการบอกรับข่าวด้วย mailing  list  และมีข่าวเข้ามาจำนวนมากทางอีเมล์จะต้องอ่านข่าว และโอนมาไว้ที่เครื่องตน (พีซี) หรือลบออกจาก mbox และหากไม่อยู่หรือไม่ได้เปิดตู้จดหมายเกินกว่าหนึ่งสัปดาห์จะต้องส่งไปบอกยกเลิก การรับ เพื่อว่าจะได้ไม่มีจดหมายส่งเข้ามามาก

 

        ต่อไปนี้เป็นจรรยาบรรที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยึดถือไว้เสมือนเป็นแม่บทแห่งการปฏิบัติเพื่อระลึกและเตือนความจำเสมอ

 

สูเจ้าต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์ทำร้าย  หรือละเมิดผู้อื่น

สูเจ้าต้องไม่รบกวนการทำงานของผู้อื่น

สูเจ้าต้องไม่สอดแนม หรือแก้ไขเปิดดูในแฟ้มของผู้อื่น

สูเจ้าต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการโจรกรรมข้อมูลข่าวสาร

สูเจ้าต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างหลักฐานที่เป็นเท็จ

สูเจ้าต้องไม่คัดลอกโปรแกรมผู้อื่นที่มีลิขสิทธิ์

สูเจ้าต้องไม่ละเมิดการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์โดยที่ตนเองไม่มีสิทธิ์

สูเจ้าต้องไม่นำเอาผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน

สูเจ้าต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสังคมอันติดตามมาจากการกระทำ

สูเจ้าต้องใช้คอมพิวเตอร์โดยเคารพกฎระเบียบ  กติกามารยาท

 

         จรรยาบรรณเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมอินเทอร์เน็ตเป็นระเบียบความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นเรื่องที่จะต้องปลูกฝัง กฎเกณฑ์ ของแต่ละเครือข่ายจึงต้องมีการวาง ระเบียบเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระบบ และเอื้อประโยชน์ซึ่งกัน และกัน  บางเครือข่ายมีบทลงโทษที่ชัดเจน เช่น หากปฏิบัติเช่นไรจะถูกคัดชื่อออกจากการเป็นผู้ใช้เครือข่ายอนาคตของ การใช้เครือข่ายยังมีอีกมาก  จรรยาบรรณจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้สังคมสงบสุข และหากการละเมิดรุนแรงกฎหมายก็จะเข้ามา มีบทบาทได้เช่นกัน