Skip to main content

Tag: พรพิมล ตั้งชัยสิน

เทคนิคเบื้องต้นสำหรับเปลี่ยนแปลงตัวละคร Scratch

เขียนโดย นางสาวพรพิมล ตั้งชัยสิน นักวิชาการ สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.  

     Scratch เป็นโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์สำหรับสร้างผลงานต่างๆ เช่น การทำแอนิเมชัน การจำลองทางวิทยาศาสตร์ เกม ดนตรี ศิลปะ การสร้างสื่อแบบมีปฏิสัมพันธ์ โดยมีวิธีการโปรแกรมที่ไม่ต้องพิมพ์คำสั่งที่ยุ่งยากซับซ้อนเพียงนำบล็อกคำสั่งมาวางเรียงต่อกันตามลำดับการทำงาน ซึ่งบล็อกคำสั่งนี้จะมีลักษณะคล้ายชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ ดังรูป จึงง่ายต่อการโปรแกรมและเหมาะกับการสอนหลักการโปรแกรมที่ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีระบบและการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ยังสามารถเผยแพร่และแลกเปลี่ยนผลงานผ่านทางเว็บไซต์http://scratch.mit.edu

11-1

      โปรแกรม Scratch ประกอบด้วยโครงสร้างหลัก 3 ส่วน ได้แก่ เวที (Stage) ตัวละคร (Sprite) และสคริปต์ (Script) โดยแต่ละส่วนมีความสัมพันธ์กันและทำงานร่วมกัน การเขียนโปรแกรม Scratch ทำได้โดยการเขียนสคริปต์สั่งให้ตัวละครทำงาน ณ ตำแหน่งต่างๆ บนเวที เพื่อให้ตัวละครเคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลงรูปร่าง แสดงอิริยาบถต่างๆ เช่น พูด เดิน เปลี่ยนสี เปลี่ยนขนาด เป็นต้น ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเทคนิคเบื้องต้นสำหรับเปลี่ยนแปลงตัวละคร เพื่อเป็นประโยชน์ในการประยุกต์ให้ตัวละครเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้นตามจินตนาการของผู้เขียนโปรแกรม

      การวางแผนก่อนการเขียนโปรแกรม จะช่วยให้สามารถตรวจสอบข้อผิดพลาดจากการเขียนโปรแกรมได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้ได้ผลลัพธ์ถูกต้อง ตรงตามความต้องการ ซึ่งสามารถทำได้โดยการถ่ายทอดความคิดเป็นข้อความหรือเขียนผังงาน

การกะพริบ

        เป็นการปรากฏและหายไปของตัวละคร สลับกัน ภายในช่วงเวลาหนึ่ง  สามารถเขียนลำดับการทำงานโดยถ่ายทอดความคิดเป็นข้อความได้ดังนี้

  1. ตัวละครปรากฏ
  2. รอเวลา 1 วินาที
  3. ซ่อนตัวละคร
  4. รอเวลา 1 วินาที
  5. ทำซ้ำตั้งแต่ข้อ 1 ถึง ข้อ 4 ไปเรื่อยๆ

จากลำดับความคิดดังกล่าว เขียนเป็นคำสั่งได้ ดังนี้

11-2

ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ภาพกะพริบ ซึ่งเกิดจากตัวละครปรากฏ 1 วินาที แล้วหายไป 1 วินาที สลับกัน   �

การย่อ-ขยายตัวละครสลับกัน

          เป็นการเปลี่ยนขนาดของตัวละครให้ใหญ่และเล็กภายในช่วงเวลาหนึ่งสลับกัน สามารถเขียนลำดับการทำงานโดยถ่ายทอดความคิดเป็นข้อความได้ดังนี้

  1. ตัวละครมีขนาดใหญ่ขึ้น 10%
  2. รอเวลา 1 วินาที
  3. ตัวละครมีขนาดเล็กลง 10%
  4. รอเวลา 1 วินาที
  5. ทำซ้ำข้อ 1 ถึง ข้อ 4 ไปเรื่อยๆ

จากลำดับความคิดดังกล่าว เขียนเป็นคำสั่งได้ ดังนี้

11-3

ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ภาพตัวละครย่อ-ขยายสลับกัน ซึ่งเกิดจากตัวละครเปลี่ยนขนาดให้ใหญ่ขึ้น 10%เป็นเวลา 1 วินาที แล้วเปลี่ยนขนาดตัวละครให้เล็กลง 10% เป็นเวลา 1 วินาที สลับกัน

 

การเปลี่ยนสีตัวละครโดยเพิ่มค่าสี

     เป็นการเพิ่มค่าสีให้กับตัวละครโดยกำหนดค่าสีที่เพิ่มขึ้นภายในช่วงเวลาหนึ่ง  สามารถเขียนลำดับการทำงานโดยถ่ายทอดความคิดเป็นข้อความได้ดังนี้

  1. เปลี่ยนสีตัวละครเพิ่มขึ้น 25
  2. รอเวลา 1 วินาที
  3. ทำซ้ำข้อ 1 ถึง ข้อ 2 ไปเรื่อยๆ

จากลำดับความคิดดังกล่าว เขียนเป็นคำสั่งได้ ดังนี้

11-4

      ผลลัพธ์ที่ได้จากโปรแกรม คือ ตัวละครแมวเปลี่ยนสี เริ่มจากสีน้ำตาล สีเขียวอ่อน สีเขียวเข้ม สีฟ้าอ่อน สีน้ำเงิน สีม่วงเข้ม สีชมพู สีแดง และวนกลับไปเริ่มต้นสีน้ำตาล ไปเรื่อยๆ

     ตัวอย่างที่ยกมานี้ เป็นการทำให้ตัวละครแสดงการเปลี่ยนแปลงแบบพื้นฐานเท่านั้น ผู้เขียนโปรแกรมสามารถนำแนวคิดนี้ไปประกอบกับการเคลื่อนที่ของตัวละคร จะทำให้ตัวละครมีอิริยาบถที่หลากหลาย อาจเพิ่มคำสั่งให้ตัวละครมีบทพูด หรือใส่เสียงประกอบ จะทำให้ตัวละครมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น