Skip to main content

Social Network สร้างสรรค์หรือทำลาย “การเรียนรู้”

                “… Facebook ของคุณชื่อว่าอะไร…” , “…ขอเพิ่มเป็นเพื่อนได้ไหมครับ..”, “Id Line ของคุณคืออะไร..”  ประโยคคำถามเหล่านี้เป็นคำถามในเครือข่ายสังคม    “Social Network” เป็นคำที่ทรงอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกเพศทุกวัย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม แม้กระทั่งในวงการศึกษา

                เหตุใด Social Network จึงมีอิทธิพลในสังคมไทย คำถามนี้เป็นคำถามที่ผู้เขียนมีความเห็นว่า เพราะคนไทยยินดีที่จะบริโภค Social Network นั่นเอง  ข้อมูลจากเว็บไซต์ socialbakers.com1 เปิดเผยว่า ใน พ.ศ.2554 มีคนไทยใช้งาน Facebook ประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มคนที่ใช้เป็นกลุ่มคนที่มีสถานะทางการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมสูง และช่วงอายุของคนที่ใช้งาน Social Network คือช่วงอายุ 18-34 ปี ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศชาติ  มีการใช้ชีวิตประจำวันเกี่ยวข้องกับการใช้ Social Network เป็นอย่างมาก ซึ่งหากสังคมไทยไม่เร่งสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อตั้งรับกระแส Social Network ให้ดีแล้ว ประเทศไทยอาจจะได้รับพิษภัยของ Social Network มากกว่าที่จะรับประโยชน์ก็ได้

Social Network มักใช้สื่อสารที่มาจากคนหลายกลุ่ม เช่น คนในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน จึงทำให้คนในสังคมไทยให้ความสำคัญกับ Social Network มากกว่าการสื่อสารแบบอื่น และคุณลักษณะของ Social Network สามารถแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารด้วยความรวดเร็ว จึงทำให้ผู้ส่งสารและผู้รับสารมีความชื่นชอบและนิยมมากขึ้น นักเรียนเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่นิยมใช้ Social Network ในชีวิตประจำวันทั้งเรื่องส่วนตัวและการศึกษา หากครูไม่นำการใช้ Social Network เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการจัดการเรียนรู้ ดูเหมือนกับจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย และนักเรียนก็จะไม่ให้ความสนใจ หรือไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้น ครูจะมีกุศโลบายอย่างไรที่จะช่วยให้นักเรียนใช้ Social Network ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การนำ Social Network มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในเรียนรู้ของนักเรียนสามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนที่จะต้องพิจารณาถึงจุดประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับนักเรียน เช่น ครูสามารถแจ้งข้อมูลข่าวสารให้นักเรียนทราบโดยการ โพสต์ลงในกระดานข้อความ หรือการนัดหมายกิจกรรมผ่านอีเมล [2,3,4]

ในการนำ Social Network มาใช้จัดการเรียนรู้นั้น ไม่ควรใช้ทุกแผนการเรียนรู้ เพราะ Social Network เป็นเพียงสื่อการจัดการเรียนรู้ประเภทหนึ่งเท่านั้น การออกแบบการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาใดๆ ควรจะมีการเลือกใช้สื่อให้หลากหลาย  โดยพิจารณาเลือกใช้ตามคุณสมบัติของ Social Network  เช่น การมอบหมายงานและรับส่งงานด้วยอีเมล ต้องแนะนำให้นักเรียนคำนึงถึงมารยาทให้การรับส่งข้อมูล  พิมพ์ข้อความตามรูปแบบของจดหมาย ซึ่งจะต้องมีคำขึ้นต้น เช่น เรียน คุณครู …..  สำหรับเนื้อความของจดหมายจะต้องพิมพ์เป็นย่อหน้าให้ชัดเจน และจะต้องมีคำลงท้ายเสมอ เช่น ด้วยความเคารพอย่างสูง เป็นต้น

นอกจากนี้ ควรให้นักเรียนส่งสำเนาอีเมลไปยังผู้ปกครอง เพื่อให้ทราบผลการปฏิบัติงานของนักเรียน หากนักเรียนคนใดที่ผู้ปกครองไม่ได้ใช้อีเมล  ให้ส่งถึงบุคคลอื่นที่เป็นผู้ใกล้ชิดหรือคนรู้จักได้ เช่น ครูประจำชั้นของนักเรียน ญาติ และให้ส่งความคิดเห็นของผู้ปกครองกลับมายังผู้สอน  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลงานนักเรียน  ดังนั้นการนำ Social Network มาใช้ในการจัดการเรียนรู้สามารถทำได้ โดยขึ้นอยู่กับครูผู้ออกแบบการจัดการเรียนรู้ว่าจะพิจารณาเลือกใช้ Social Network อย่างไรจึงจะเหมาะสมกับจุดประสงค์การเรียนรู้

                ครูผู้สอนควรนำ Social Network ที่นักเรียนให้ความสนใจ เช่น facebook หรือ line มาเป็นเครื่องมือช่วยในการจัดการเรียนรู้ เช่น สร้างกลุ่มใน facebook และ line เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างครูและนักเรียน เมื่อครูได้แจกเอกสารใบความรู้ หรือมอบหมายภาระงานใดๆ ในห้องเรียนแล้ว ครูก็สามารถโพสไฟล์เอกสารใบความรู้หรือไฟล์รายละเอียดภาระงานในรูปแบบของไฟล์เอกสาร หรือไฟล์รูปภาพลงในกลุ่ม  facebook และ line อีกครั้งเพื่อเป็นการย้ำเตือนให้นักเรียนรับทราบ หากนักเรียนมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามเกี่ยวกับเนื้อหาสาระการเรียนหรือภาระงานก็สามารถพิมพ์ข้อความหรือคำถามส่งในกลุ่ม facebook หรือ line ได้ทันที ครูผู้สอนก็จะตอบข้อคำถามนั้นกลับมาในกลุ่ม facebook หรือ line ซึ่งจะช่วยให้เพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ ได้เห็นข้อคำถามและตำตอบนั้นพร้อมกัน นับเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลที่มีประโยชน์ต่อคนกลุ่มใหญ่ด้วย  นอกจากนี้ครูอาจเชิญชวนให้ผู้ปกครองนักเรียนที่ใช้งาน facebook หรือ line เข้าร่วมกลุ่มดังกล่าวที่สร้างขึ้น ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองนักเรียนได้รับทราบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ในรายวิชา ผู้ปกครองนักเรียนอาจจะช่วยกำชับและกระตุ้นเตือนนักเรียนให้มีความรับผิดชอบการเรียนในรายวิชานั้นๆ มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นนับเป็นการใช้ Social Network  มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                และในปัจจุบันการติดต่อสื่อสารจะใช้ การใช้ครูผู้สอนการใช้ Social Network เป็นการใช้งานส่วนบุคคลอย่างอิสระ ดังนั้น การดูแลป้องกันนักเรียนให้ห่างไกลจากพิษภัยของการใช้ Social Network จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะครูและผู้ปกครอง การควบคุมดูแลภายในห้องเรียนเป็นความรับผิดชอบของครู เวลาอยู่ที่บ้าน การเอาใจใส่และดูแลเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง ครูควรชี้แจงให้ผู้ปกครองได้ทราบถึงความจำเป็นที่นักเรียนต้องใช้งาน Social Network มาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ปกครองช่วยติดตามและกวดขันการใช้งาน Social Network ของนักเรียนให้มีความปลอดภัย

                กล่าวโดยสรุปการออกแบบกิจกรรรมการเรียนรู้ของครูเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ Social Network เป็นสื่อที่สร้างสรรค์การเรียนรู้ของนักเรียน ครูควรพิจารณาเลือก Social Network มาใช้ให้เหมาะสม รวมถึงการมอบหมายงาน ควรสนับสนุนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านต่างๆ อย่างถูกวิธี ทั้งนี้ครูควรปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักเรียนในการใช้ Social Network อย่างคุณธรรมจริยธรรมและไม่ผิดกฎหมาย อีกทั้งร่วมมือกับผู้ปกครอง ดูแล ติดตามและกวดขันการใช้งาน Social Network ของนักเรียน  สิ่งเหล่านี้จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่นักเรียนในการตั้งรับกระแสการใช้งาน Social Network ในสังคมไทยให้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ 

ยกร่างบทความโดย นายกำพล วิลยาลัย โรงเรียนบรมราชินีนาถราชวิทยาลัย  จ.ราชบุรี
บรรณาธิการโดย คณะบรรณาธิการสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.

บรรณานุกรม

[1] socialbakers.com (2554). ผลกระทบของโซเชียลเน็ตเวิร์คหรือโซเชียลมีเดียต่อสังคมไทย [ออนไลน์].
                เข้าถึงได้จาก https://sites.google.com/site/socialnetwork52011011419/phlk-ra-thb.
                สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558.

[2] เสกสรร สายสีสด (2557).  สื่อใหม่กับการเรียนรู้ [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
               http://www.slideshare.net/Drseksun1/ci13501chap4. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558.

[3] ตวงพร ดำฤทธิ์ (2555 ). Social Network กับการเรียนการสอน [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
               http://www.gotoknow.org/post/443605. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558.

[4] สุพณิดา สุมิตร (2555).  Social Network กับการศึกษา [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
               http supanida5521202761.blogspot.com/2012/10/cosial-network.html?m=1. สืบค้นเมื่อวันที่
               20 มกราคม 2558.

social network